สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำม.ราชภัฏ “ทำงานให้เข้าเป้ายกระดับการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น”

ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร สิทธาคม

วันที่ 19 พ.ค.60 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ความตอนหนึ่งว่า ในโอกาสเปิดภาคการศึกษาใหม่ ประจำปี 2560 นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ที่ผ่านมา โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 40 ล้านบาท ประกอบด้วย “ทุนการศึกษา” จำนวน 27 ทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา, ค่าครองชีพ, ค่าหอพัก และค่าอุปกรณ์การศึกษา แก่เด็กนักเรียน นักศึกษาที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย อีกส่วนหนึ่งสำหรับจัดหา “โต๊ะ-เก้าอี้พระราชทาน” ที่จะทยอยส่งมอบให้สถานศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาใน 10 จังหวัดที่ประสบภัย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แก่วงการการศึกษาของประเทศ
1613c8444577f6f6acdbfd9a854ad537.jpg พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ได้ทรงมอบพระบรมราโชบายด้านการศึกษาผ่านองคมนตรีที่เกี่ยวข้องตอนหนึ่งความว่า "...ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน..." แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ทรงสนพระทัยระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทย และทอดพระเนตรเห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างดี ทั้งยังทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งถึงแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตครูที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งความรู้วิชาการและเป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น อย่างเข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาของพสกนิกรไทยของพระองค์ในแต่ละท้องที่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

“กระผมทราบว่าที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.) ได้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฎระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ที่น้อมนำพระบรมราโชบายมาเป็นยุทธศาสตร์หลัก มุ่งให้มหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 38 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย สามารถเป็นแกนนำในการพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนผลิตและพัฒนาครู และยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 เป็นอย่างดี”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาพบว่าบางมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ได้ดำเนินการให้เห็นผลแล้ว บางแห่งเพิ่งเริ่ม และบางแห่งก็ยังไม่เคยดำเนินการ ก็ถึงเวลาที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศ พัฒนาท้องถิ่น เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่อย่างลึกซึ้ง นำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมีอยู่เข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ตรงจุด อย่างเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหา

 7103a1bda5dee1ee1c8ffe439389fa6b.jpgพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกด้วยว่า มีตัวอย่างผลการดำเนินการที่เรียกว่า พันธกิจสัมพันธ์กับการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่เข้าไปคลุกคลีกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นมาเกือบ 20 ปี เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย 8 คณะ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น 25 พื้นที่ ในการแก้ปัญหาในท้องที่อย่างตรงเป้าหมายแบบบูรณาการ เช่น ในหมู่บ้านที่ประสบปัญหาประชากรวัวหนาแน่นจนได้รับผลกระทบจากมูลวัวจำนวนมาก ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ก็ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล พลังงานจังหวัด ในการเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน สอนหลักเศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการเบื้องต้น นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปใช้ประโยชน์จากมูลวัว เปลี่ยนให้เป็นแก๊สชีวภาพ ที่พี่น้องประชาชนสามารถนำไปใช้ในครัวเรือน นับเป็นแบบอย่างที่ดีในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ต้องขอชื่นชม

“นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ต่อไปนี้ก็ขอหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพในพื้นที่ ที่สามารถเข้าถึงวิถีชิวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาให้ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยตามความมุ่งหวังของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วยนะครับ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าว

ก่อนวันที่ 19 พค.2560 ไม่นาน มีโอกาสได้คุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช (มรภ.นครศรีฯ) รศ.วิมล ดำศรี ที่มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ในคณะ ทปอ. 38 แห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามและตราสัญลักษณ์เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

รศ.วิมลบอกว่า นั่นด้วยเพราะทรงวางพระราชหฤทัยให้เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่พึ่งพิงของท้องถิ่น และเยาวชนในครอบครัวท้องถิ่นห่างไกลเมืองเจริญ โอกาสทางการศึกษาไม่มากนักในการที่จะได้รับอบรมบ่มนิสัยให้ความรู้ความสามารถทั้งทางวิชาการและประสบการณ์ทักษะ เป็นเครื่องมือนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตพัฒนาท้องถิ่นหัวใจสำคัญของเมืองหลวง

คำว่า “ราชภัฏ” หมายความถึง “เป็นคนของพระราชาข้าของแผ่นดิน” เป็นผู้ที่จะได้สนองพระราชปณิธานในการทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณด้านการถ่ายทอดวิชาความรู้ความสามารถสู่เยาวชนในครอบครัวท้องถิ่นชนบท เป็นที่พึ่งในการอบรมบ่มนิสัยให้ความรู้ความสามารถแก่เยาวชนที่อาจมีโอกาสทางการศึกษาไม่ทัดเทียมคนในครอบครัวที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง อันเครื่องบ่งบอกว่า ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ด้านการศึกษาของประชาชนคนไทยทุกคน เฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน จึงทรงวางพระราชหฤทัยคนราชภัฏให้จัดการเรียนการสอนเยาวชนในครอบครัวท้องถิ่น

ซึ่งแน่นอนที่สุด “ราชภัฏ” คนของพระราชาทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณสนองพระเดชพระคุณพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่น

5b722b9522b481244c0de76651e78062.jpg รศ.วิมล ดำศรี อธิการบดี มรภ.นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการผลิตหนังสือเฉลิมพระเกียรติ “ครูของแผ่นดิน” อันเป็นมติของอธิการบดี มรภ.ทุกแห่งทั่วประเทศที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณปลื้มปีติที่จะได้มีโอกาสนำรูปธรรมของแต่ละมหาวิทยาลัยราชภัฎจัดการเรียนการสอนโดยยึดการน้อมนำแนวพระราชดำริมาขับเคลื่อนปลูกฝังเยาวชนสืบสานแนวพระราชปณิธานด้วยรูปธรรมตามแต่ละพื้นที่ภูมิสังคมผ่านคณะวิชาทุกคณะ กิจกรรมการปลูกฝังคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในรั้วมหาวิทยาลัย และพื้นที่นอกรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ปลูกป่า อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พัฒนาดิน พัฒนาพลังงานประหยัดในรูปแบบต่างๆ อันล้วนแต่ตระหนักถึงสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นต้นแบบทั้งสิ้น เพื่อเน้นย้ำสืบสานพระราชปณิธานถวายเป็นพระราชกุศลได้บอกเล่าถึงการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยโดยมุ่งสืบสานตามแนวพระราชดำริเป็นสำคัญ

อธิการบดี มรภ.นครศรีธรรมราชบอกว่า ในส่วนของหนังสือเฉลิมพระเกียรติขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

รศ.วิมล พูดถึงบทบาทมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชในคราวนั้นว่า ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นภารกิจการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างล้นพ้น ที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งปวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อดูจากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นประทีปถิ่น ประเทืองไทย โดยมีบทบาทหน้าที่จะต้องน้อมนำเอาพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์มาปรับใช้ เพื่อบูรณาการกับทุกศาสตร์ ทุกสาขาวิชาที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัย

ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชจึงได้น้อมนำเอาพระราชดำริและพระบรมราโชวาทมาปฏิบัติเป็นภารกิจในหลายกรณี เช่น การนำพระราชดำริและพระบรมราโชวาทบรรจุไว้ในหลักสูตร ซึ่งมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในรายวิชาศึกษาทั่วไป

อธิการบดี มรภ.นครศรีธรรมราชบอกด้วยว่า เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของสาขาวิชาเกษตร โดยอาจารย์ในหลักสูตรได้น้อมนำเอาต้นแบบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงคิดค้นมาใช้ประโยชน์กับการจัดการเรียนการสอน คือหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้แนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และในการปฏิบัติงานทั้งหลายของมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

รศ.วิมล ดำศรี บอกอีกว่า นอกจากการอบรมบ่มนิสัยให้เยาวชนได้เรียนรู้วิชาการแล้ว ต้องมีทักษะภาคปฏิบัติและมีส่วนร่วมนำความรู้ไปสู่ชุมชนเคียงคู่กับคณาจารย์ ตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัยดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ศึกษาการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯบ้านป่ายาง เป็นศูนย์ที่สนองปรัชญาเกษตรทฤษฏีใหม่ฯ เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ให้นักศึกษาทุกสาขาวิชาและประชาชนทั่วไป สามารถมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้

ให้อาจารย์นักศึกษาเข้าร่วมโครงการฝายมีชีวิตของชุมชนลานสกา ที่ได้ช่วยเหลือชุมชนและนักศึกษาได้ซึมซับวิถีชีวิตคนในชุมชน คนในชุมชนได้ความรู้วิชาการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมๆ กันด้วย” อธิการบดี มรภ.นครศรีธรรมราช สรุปหลักการจัดการเรียนการสอนสนองพระมหากรุณาธิคุณ