กรรมเริ่มสนอง!โกงแชร์ลอตเตอรี่สหกรณ์ครู

จุดประกายข่าวใหญ่เกี่ยวข้องกับวงการครูไทยให้ได้ติดตามอย่างใจจดจ่อกันอีกวาระ หลังเงียบหายไปตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2553 เมื่อมีคดีครึกโครมช่วงปลายเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา กรณี รศ.ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา อดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกออกหมายจับในข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยหลอกลวงสมาชิกร่วมลงทุนซื้อโควตาลอตเตอรี่ แลกกับผลตอบแทนร้อยละ 1 ต่อเดือน และมีเหยื่อหลงเชื่อกว่า 160 ราย ทำให้สูญเงินไปกว่า 1.4 พันล้าน

หลายคนฉุกคิดย้อนไปถึงคดีโกงแชร์ลอตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายจังหวัดจนเกิดความเสียหายขึ้นมากมายหลายพันล้านบาท ซึ่งมีพฤติการณ์คล้ายคลึงกันคือ มีกลุ่มบุคคลที่มีอดีตนักการเมืองใหญ่อยู่เบื้องหลัง โกงสหกรณ์ฯให้ร่วมลงทุนซื้อโควตาลอตเตอรี่ โดยอ้างให้ผลประโยชน์ตอบแทนสหกรณ์เป็นเปอร์เซ็นต์ และให้สมาชิกสหกรณ์มีสิทธิ์นำลอตเตอรี่ราคาถูกฉบับละ 72.80 บาท ไปจำหน่ายหากำไร แต่กลับไม่มีลอตเตอรี่จริง

จากข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในช่วงเวลานั้นพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2554 มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 13 จังหวัด รวม 20 สัญญา ถูกโกงให้ร่วมลงทุนโควตาลอตเตอรี่ ซึ่งไม่มีจริง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 7,556 ล้านบาท และได้มีการแจ้งความไว้กับดีเอสไอทั้งคดีแพ่งและอาญา

กระทั่ง ณ วันนี้ การพิจารณาคดีในชั้นศาลเริ่มทยอยตัดสินเป็นที่สิ้นสุดไปบางคดีแล้ว ดังเช่นที่ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งรับผิดชอบคดีแชร์ลอตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวบอกกล่าวถึงความคืบหน้าคดีของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรีว่า

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ ๖๙๔๒/๒๕๕๙ ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุกบรรดากรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี รวม 16 คนๆ ละ 6 ปี ในข้อหาฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ในฐานะเป็นผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓, ๘๓, ๙๑

ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ คือ การดำเนินการทำสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๖ เป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไร อันเป็นการลงทุนอย่างอื่นตามกฎหมายที่จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นไปตามที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด ย่อมเป็นการกระทำที่จงใจฝ่าฝืนต่อกฎหมายและข้อบังคับของสหกรณ์ฯ

ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ได้มีหนังสือของอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์จังหวัดราชบุรีแจ้งถึงสหกรณ์ต่างๆ และโจทก์ว่า การดำเนินธุรกิจจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจำหน่ายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสหกรณ์ แต่ยังมีการฝ่าฝืนกระทำการอย่างเร่งรีบด้วยเงินผลประโยชน์เกี่ยวข้องจำนวนมหาศาลหลายล้านบาท ส่อไปในทางกระทำการทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

ซึ่งกระผมและคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้หลักกฎหมายในการมีความเห็นสั่งฟ้องบรรดากรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ฯ สอดคล้องตามแนวทางที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้

พ.อ.ปิยะวัฒก์ ยังแสดงความเห็นไว้ด้วยว่า ฉะนั้น ผู้บังคับใช้กฎหมายคนใดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องบรรดากรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ฯ ขอได้พึงสังวรณ์ไว้ด้วยว่า การวินิจฉัยสั่งการของคุณชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่นเดียวกับบรรดากรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ฯ ที่ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และต่อสู้คดีกันนักว่า สหกรณ์ทำสัญญาซื้อขายสลากมาให้สมาชิกจำหน่ายได้...เชื่อว่าคงไม่นานเกินรอ พวกคุณก็คงได้รับกรรมที่ได้ก่อความเสียหายไว้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ

นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนๆ เฟซบุ๊กของ พ.อ.ปิยะวัฒก์ยังได้โพสต์ต่อบอกกล่าวถึงคดีของสหกรณ์ฯร้อยเอ็ดว่า กำลังรอฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีอาญาอย่างใจจดจ่อด้วยเช่นกัน และบอกด้วยว่า ได้ทราบข่าวว่าศาลฎีกาคดีแพ่งของร้อยเอ็ดก็ยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ชดใช้เงินคืนแก่สหกรณ์ฯ ตามมูลค่าความเสียหายพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องด้วย

ก่อนหน้านี้ นายสานิตย์ พลศรี อดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นคนออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับ “สำนักข่าวสยามเอ็ดดูนิวส์” ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดชัยภูมิได้รับความเสียหายจากการถูกโกงแชร์ลอตเตอรี่ด้วยเป็นเงินกว่า 295 ล้านบาท ล่าสุดศาลแพ่งได้ตัดสินให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดชัยภูมิ เป็นเงินลงทุนกว่า 295 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยประมาณ 40 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 300 ล้านบาท