น่าห่วง!ยอด “ผู้ป่วยจิตเวช” เข้ารักษาแล้วเกือบ 2 ล้านคน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตได้เร่งพัฒนาระบบบริการผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชทุกกลุ่มวัย ในสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายบริการในเขตสุขภาพทั่วประเทศ 12 เขตและ กทม. ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจนถึงโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ สามารถจัดบริการผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และทันท่วงที 

ซึ่งจะสามารถป้องกันความรุนแรงในสังคมจากปัญหาสุขภาพจิตได้ โดยมุ่งเน้นการตรวจคัดกรอง การบำบัดรักษาและติดตามเฝ้าระวังป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตวาย ซึ่งส่งผลให้ระบบบริการผู้ป่วยจิตเวชของประเทศดีขึ้น

ล่าสุดในปี 2559 มีผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการรักษารวม 1 ล้าน 7 แสนกว่าคน ลดค่าใช้จ่ายเดินทางของผู้ป่วยและญาติลงได้ 1,000-2,000 บาทต่อครั้งต่อคน ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในส่วนของโรงพยาบาลจิตเวชและสถาบันเฉพาะทางด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในสังกัดของกรมฯ ซึ่งมีทั้งหมด 19 แห่งทั่วประเทศ ดูแลประชากรแห่งละประมาณ 5 ล้านคน ได้พัฒนาให้เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ (Super Specialist Service)

เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยจิตเวชจากเขตสุขภาพทั่วประเทศที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อน ตั้งเป้าอย่างน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยนิติจิตเวช 2.ผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น 3.ผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ 4.ผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติดและมีอาการป่วยทางจิตเวชร่วมด้วย และ 5. ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง  

โดยพัฒนาต่อเนื่อง 3 ปี ทั้งด้านบุคลากรทุกสาขา เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ  สามารถให้การดูแลผู้ป่วยเชื่อมต่อจากหน่วยบริการในเขตสุขภาพ และในปี 2560 นี้ ได้ใช้งบลงทุนพัฒนา 9 ล้านกว่าบาท และจะเปิดศูนย์เชี่ยวชาญเพิ่มอีก 1 แห่งในปี 2561 คือโรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก จ.พิษณุโลก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างด้วย

“ตลอดปี 2559 โรงพยาบาลจิตเวชและสถาบันเฉพาะทางในสังกัด ได้ให้บริการรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ซับซ้อน ที่ส่งตัวมาจากโรงพยาบาลเครือข่ายในเขตสุขภาพรวมทั้งหมด 351,235 คน หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนอาการทุเลาจนปลอดภัยแล้ว จะมีการจัดทำระบบส่งต่อให้หน่วยบริการในภูมิลำเนาของผู้ป่วยติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานทุกราย ป้องกันปัญหาการขาดยา การกลับมาเป็นซ้ำ และไม่ก่อความรุนแรง ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ทางด้านนายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่จัดอยู่ในข่ายผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนมี 7 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นผู้ป่วยนอก ที่ได้รับการรักษาด้วยยาและไม่ใช้ยาเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น 2.ผู้ป่วยต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจงและเข้มข้นแบบผู้ป่วยใน

3.ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในและมีอาการป่วยซ้ำต้องกลับเข้ารักษาเป็นเวลา 3 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี 4.ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นหรือมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายภายใน1 ปี 5.ผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติดหรือสุราที่มีโรคทางจิตเวชหรือมีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคมอย่างรุนแรง เช่นประสาทหลอน หูแว่ว

6.ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านนิติจิตเวชหรือได้รับการส่งต่อจากกระบวนการยุติธรรมหรือความเป็นธรรมทางสังคมตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 เช่น ผู้ป่วยถูกทารุณกรรมทางกาย และ 7.ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยแยกโรคทางจิตเวช ต้องเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน

“โดยผู้ป่วยประเภทต่างๆที่กล่าวมา หลังผ่านการบำบัดจนอาการสงบแล้ว จะมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน หรือการฟื้นฟูด้านอาชีพ เพื่อส่งกลับดูแลต่อในชุมชน” นพ.บุรินทร์กล่าว