คนไทยคิดสั้นพุ่งปีละ 3-4 พันคน “กรมสุขภาพจิต”แนะโหลดแอพฯ!สบายใจ ลดเสี่ยงฆ่าตัวตายได้ผล

นาวาอากาศตรี นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ทุกครอบครัว จากข้อมูลในช่วง 2-3 ปีมานี้ ประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายปีละ 3,900 - 4,200 คน ในขณะที่องค์การอนามัยโลกรายงานในปี พ.ศ.2559 มีผู้ฆ่าตัวตายทั่วโลกปีละกว่า 800,000 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในช่วง 45 ปี คาดว่าในปี พ.ศ.2563 จะมีคนฆ่าตัวตายสูงขึ้น 1.5 ล้านคน

จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการป้องกันและเฝ้าระวังการฆ่าตัวตายของประเทศ พบว่าในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เกิดมาจากเหตุทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกคนตระหนักและร่วมมือกันลดปัญหา

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมสุขภาพจิตได้เร่งลดปัญหา โดยได้วางระบบป้องกันการฆ่าตัวตาย เน้นการคัดกรองจากกลุ่มที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 6 กลุ่มหลักได้แก่ ผู้ป่วยจิตเวช โรคซึมเศร้า โรคเรื้อรัง ผู้ใช้สุราและสารเสพติด ผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล และกลุ่มคนที่มีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน ดำเนินการในโรงพยาบาลทุกแห่ง และขยายผลลงถึงหมู่บ้านโดย อสม. เพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง

และในปีนี้ ได้เพิ่มการจัดทำฐานข้อมูลผู้ที่มีประวัติพยายามทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตายทั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีมากกว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4 เท่าตัว คาดว่ามีประมาณ 15,000 คน เพื่อการเฝ้าระวังในพื้นที่ทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ เพราะคนกลุ่มนี้จะมีโอกาสฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 10 เท่าตัว ขณะนี้มีผู้อยู่ในระบบแล้ว 5,000 กว่าคน

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า สบายใจ (sabai jai) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการผ่านทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เป็นประเทศต้นๆของโลก เพื่อให้ประชาชนใช้ตรวจสอบสภาพจิตใจ ความเสี่ยงต่อการคิดสั้นฆ่าตัวตายของตัวเอง และคนใกล้ชิด

น.ต.นายแพทย์บุญเรืองกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีประชาชนเข้ามาใช้แล้ว 7 เดือน จำนวนกว่า 1,000 คน ช่วยลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายลงได้อย่างดี และชื่นชอบแอพฯนี้ จึงขอแนะนำให้ผู้ที่ใช้มือถือในระบบแอนดรอยด์ ดาวน์โหลดหรือถ่ายภาพจากคิวอาร์โค๊ด ติดตั้งไว้ที่หน้าจอมือถือที่ใช้เป็นประจำ เพราะหากตนเองหรือผู้ใกล้ชิดมีปัญหาสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะเร่งให้สามารถใช้กับมือถือทุกระบบภายใน 3 เดือนนี้ รวมทั้งจะพัฒนาให้มีคุณภาพสื่อสารได้ 2 ทาง โดยให้มีระบบการโต้ตอบระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการขณะใช้งานได้ทันที

ด้านนายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น กล่าวเสริมว่า จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นฯได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสบายใจ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกแบบใช้งานง่าย ใช้ได้ทั้งชายและหญิง แบ่งเป็น 3 กลุ่มอายุคือ 15-24 ปี, 25-59 ปี และ 60-65 ปี โดยใช้คำถาม 9 ข้อ ซึ่งได้มาจากการศึกษาวิจัยด้านพฤติกรรมความคิดของคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย รวมทั้งปัญหาชีวิตที่พบได้บ่อยที่สุดในคนไทย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ผิดหวังความรัก สูญเสียคนรัก ทรัพย์สิน ทุกข์ทรมานจากการป่วย เป็นต้น โดยตอบเพียงใช่ ไม่ใช่ และทราบความเสี่ยงของตนเองได้ภายในไม่ถึง 3 นาที

นอกจากนี้ ยังมีเมนูคำแนะนำเติมกำลังใจการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องการเรียน ความรัก การงาน การเงิน ครอบครัวและสุขภาพ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จะมีเบอร์โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 กดโทรออกได้ทันที ขณะเดียวกันจะให้ผู้ใช้งานบันทึกหมายเลขโทรศัพท์คนที่อยากคุยด้วยเมื่อมีปัญหาไว้ประจำที่แอพพลิเคชั่นนี้ด้วย

“จากการประเมินผลพบว่า ประชาชนพึงพอใจแอพฯนี้สูงถึง 4.8 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยประชาชนที่สนใจสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นนี้ โดยเข้าไปที่เมนูเพลย์ สโตร์ (Play Store) ที่หน้าจอ แล้วพิมพ์คำว่าสบายใจทั้งภาษาไทยหรืออังกฤษ หรือใช้วิธีการเชื่อมต่อทางคิวอาร์โค้ด จะสามารถเข้าสู่กูเกิล เพลย์ สโตร์ (google play store) และสามารถดาวน์โหลดติดตั้งที่หน้าจอมือถือได้เลย” นพ.ณัฐกรกล่าว