พัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยทางไกลผ่านดาวเทียมตามแนวพระราชดำริ

             พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยการศึกษาสำหรับเยาวชนในท้องถิ่น เฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนขนาดเล็ก ทรงตระหนักว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาความคิด สติปัญญา ความประพฤติ และคุณธรรมของคนในชาติ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงมีพระราชปณิธานส่งเสริมการศึกษาให้แพร่หลายทั้งในเมือง และชนบทที่ทุรกันดาร โดยเฉพาะแก่เด็กยากจนและด้อยโอกาส เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

สุขทั้งแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง "มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม" เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๙ ในวโรกาสมหามงคลที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี มีนายขวัญแก้ว วัชโรทัยเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ซึ่งได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดสรรอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้แก่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.และสังกัดหน่วยงานอื่น จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนรวมกว่า ๓๐,๐๐๐ โรงเรียนทั่วประเทศ และดำเนินการถ่ายทอดสดการเรียนการสอนหลักสูตรประถมศึกษาและหลักสูตรมัธยมศึกษาทางช่องดีแอลทีวี ๑-๑๒ หรือ True Vision ๑๘๐-๑๙๗ ซึ่งกองทัพบก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นการพระราชทานการศึกษาไปสู่ปวงชนชาวไทย

แนวพระราชดำริด้านการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ปัจจุบันถึงอสัญกรรมแล้ว เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นแก่โรงเรียนต่างๆ ว่า

ความเป็นมา : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นที่โรงเรียนไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดำเนิน “โครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” โดยเป็นแม่ข่ายการถ่ายทอดระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ส่งสัญญาณออกอากาศแพร่ภาพไปยังโรงเรียนต่างๆ ในเครือข่ายทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมสร้างประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้ขยายไปสู่ชนบทห่างไกล ซึ่งไม่มีใครคิดทำมาก่อนแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน ระหว่างโรงเรียนชนบทท้องถิ่นทุรกันดารและโรงเรียนในเมือง รวมทั้งช่วยให้ประชาชนได้นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนบรรเทาปัญหาของโรงเรียนในจังหวัดห่างไกลและโรงเรียนในชนบท ที่ขาดแคลนครูสอนวิชาเฉพาะหรือสอนวิชาสามัญ

โดยทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม” เพื่อบริหารจัดการและดำเนินโครงการดังกล่าว ในปัจจุบันมีโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนขนาดเล็กเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่ง

สุขทั้งแผ่นดิน"ครูตู้" คุณครูพระราชทานผ่านดาวเทียม : ตลอดระยะเวลา 20  ปีที่ผ่านมา มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้จัดการศึกษา โดยถ่ายทอดการเรียนการสอนของหลักสูตรขั้นพื้นฐานจากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน ซึ่งเป็นโรงเรียนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังนั้น การรับฟังการเรียนการสอนจากโรงเรียนแห่งนี้ จึงเป็นการรับฟังการเรียนการสอนที่พระราชทานจากโรงเรียนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบ “ถ่ายทอดสด ๑ ช่อง ๑ ชั้น” สอนโดยครูคนเดียวกัน วิชาเดียวกัน เวลาเดียวกัน คุณภาพมาตรฐานเช่นเดียวกันกับนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล

เพื่อเปิดโอกาสให้โรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูประจำวิชา สามารถดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้เท่าเทียมกัน อีกทั้งช่วยให้เด็กนักเรียนในต่างจังหวัดผู้ด้อยโอกาสและยากจน รู้สึกว่าตนมิได้ถูกทอดทิ้ง แต่ได้รับพระราชทานการศึกษาผ่านเครื่องรับโทรทัศน์ ถ่ายทอดการเรียนการสอนสู่ห้องเรียนแต่ละห้อง แต่ละชั้นเรียนในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยโรงเรียนแต่ละแห่งจะติดตั้งจานดาวเทียมเพียงจานเดียว และติดตั้งเครื่องรับสัญญาณจำนวนเท่ากับจำนวนห้องเรียนเท่านั้น ก็สามารถรับสัญญาณได้

การดำเนินงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในการจัดการเรียนการสอน :  นอกจากหลักสูตรขั้นพื้นฐานแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานรายการ “ศึกษาทัศน์” หรือ Quest for Knowledge เป็นรายการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชวโรกาสนำนักเรียนและครูโรงเรียนวังไกลกังวลเดินทางไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ศึกษาหาความรู้จากพื้นที่และภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว และศิลปะแขนงต่างๆ โดยเฉพาะพระราชทานให้มีการบันทึกเทปการเรียนการสอน นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในศาสตร์แขนงต่างๆ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ทรงสอนนักเรียนในลักษณะเช่นนี้

สุขทั้งแผ่นดินเรียนผ่านครูตู้ ผลสัมฤทธิ์ที่พิสูจน์ได้ : ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากการเรียนกับระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ ครูตู้ ที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจยิ่งและมีสถิติสูงขึ้นทุกปี ดังจะเห็นได้ว่า ข้อมูลปัจจุบันสำรวจเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ มีนักเรียนที่จบจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ทั่วประเทศ ที่จัดการเรียนการสอนด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมจากทุกภาคของประเทศ จำนวน ๖๘๔ คน สามารถเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก และมีนักเรียนที่เรียนกับครูตู้ได้รับทุนพระราชทานเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา มีความสามารถจนได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันโต้เถียงปัญหาทางกฎหมาย โดยการแถลงด้วยวาจาในขั้นศาลอุทธรณ์ร่วมกับมหาวิทยาลัย ๒๐ แห่ง หรือนักเรียนชาวเขาเผ่าลีซอ ก็สามารถเข้าศึกษาต่อในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตลอดจนนักเรียนในโรงเรียนปอเนาะ ที่มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ก็สามารถสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ถึง ๗๐ คน จากจำนวนทั้งหมด ๑๐๐ คน

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากจากการที่โรงเรียนขนาดเล็ก เช่น โรงเรียนต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต ๑ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ นำเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาใช้ และประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพ และกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน ตลอดจนกำหนดนโยบายให้ครูทุกคนในโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่ง จัดการเรียนการสอนในลักษณะดังกล่าว

นั่นคือ ด้วยการใช้วิธีการเรียนการสอนเช่นนี้ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถดำรงอยู่ได้ โดยมีคุณภาพผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น เด็กในโรงเรียนได้เรียนรู้จากสื่อที่ทันสมัยเท่าเทียมกับโรงเรียนในเมือง หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ และช่วยลดต้นทุนในการจัดจ้างบุคลากรครู และใช้เทคโนโลยีที่ธรรมดาแบบไม่ธรรมดา

นับเป็นการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทและหลักการทรงงาน ในเรื่องประหยัด เรียบง่าย และได้ประโยชน์สูงสุด ดังเช่นพระราชกรณียกิจในด้านการพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร ที่ทรงใช้หลักในการแก้ปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัด ราษฎรสามารถทำเองได้ หาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ มาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูง หรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยากนัก

เสกสรร  สิทธาคม