“ออโต้เดสก์ เอเชีย” จับมือ!จุฬาฯ สนับสนุนซอฟต์แวร์พัฒนาวิชาการวิศวกรรม

บริษัท ออโต้เดสก์ เอเชีย จำกัด ผู้นำด้านการออกแบบ 3 มิติ เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม การออกแบบและความบันเทิง ลงนามบันทึกข้อตกลงสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยของบริษัท กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี และ น.ส.อาภาพร สุภรณ์ทิพย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย พม่าและลาว ร่วมพิธีลงนาม เมื่อเร็วๆ นี้

โดย น.ส.อาภาพรกล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงด้านวิชาการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯในครั้งนี้ ทางบริษัทฯจะสนับสนุนซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) ซึ่งมีบทบาทในวงการก่อสร้างตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการก่อสร้างอาคาร

และ Product Innovation Platform (PIP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้นิสิตจุฬาฯสามารถนำไปออกแบบผลงานต่างๆ เพื่อพัฒนาเป็นธุรกิจของตนเองได้ โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ใช้งานได้ที่ศูนย์นวัตกรรม Chulalongkorn University-Autodesk Innovation Center ที่จะจัดตั้งขึ้น

“การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีระยะเวลา 3 ปี โดยบริษัทฯจะนำซอฟต์แวร์เกี่ยวกับเทคโนโลยี BIM และ PIP เข้าไปใช้ในศูนย์นวัตกรรมที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้นิสิตได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ดี สามารถนำไปใช้ในการศึกษา พัฒนา และวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งหวังก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

ด้าน รศ.ดร.สุพจน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะทางบริษัทฯมีความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และใช้งานง่าย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้นิสิตของมหาวิทยาลัยสามารถนำเสนอแนวคิดจัดทำเป็นผลงานได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทดสอบหาจุดบกพร่องก่อนลงมือปฏิบัติจริง

รวมถึงการที่บริษัทฯเข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Chulalongkorn University-Autodesk Innovation Center ที่ชั้น 6 อาคารวิศวกรรม 100 ปี จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งนิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า และกลุ่ม Start up ได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยของออโต้เดสก์เข้าไปเสริมในงานนวัตกรรมที่จะจัดสร้างขึ้น

“ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับงานดีไซน์ จะเปลี่ยนความคิดให้สามารถสัมผัสและเห็นภาพได้ชัดขึ้น ก่อนที่จะจัดทำเป็นโมเดลจริง เป็นการประหยัดเวลา แตกต่างจากในอดีตเมื่อมีแนวคิดการจัดสร้างจะต้องไปหาอุปกรณ์มาประกอบ และมักพบปัญหาฟังก์ชั่นไม่สมบูรณ์ใช้งานไม่ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ จะช่วยทำให้สามารถใส่ไอเดียเพิ่มเติมและตรวจสอบได้ทันทีว่า ถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ ก่อนปรับนำไปลงมือปฏิบัติจริง” คณบดีคณะวิศวะ จุฬาฯกล่าว

สอบถามเพิ่มเติมโทร.0-2070-9977, 081-817-7510