“วิศวะ ม.อุบลฯ” แชมป์!ประเทศไทย แข่งขันคอนกรีตมวลเบาสถาบันอุดมศึกษา


เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถคว้าแชมป์ประเทศไทยในเวทีการแข่งขันคอนกรีตมวลเบา ระดับอุดมศึกษา ครั้งที่ 11 (11th Structural Lightweight Concrete Competition)  คว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ของการครองถ้วยพระราชทานในเวทีนี้

โดยมีนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) วิทยาเขตวังไกลกังวล เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ การแข่งขันคอนกรีตมวลเบา ระดับอุดมศึกษา เป็นเวทีแสดงความสามารถของนิสิตนักศึกษาวิศวกรรมโยธาของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ที่คิดค้นในการทำผลงานคอนกรีตมวลเบาผ่านสูตรและเทคนิคที่แตกต่างกัน สู่การทดสอบประสิทธิภาพกำลังอัดสูงได้ดี

ซึ่งจากการเข้าแข่งขันในเวทีนี้ ทีมนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.อุบลฯ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ถึง 2 ครั้ง คือครั้งที่ 9 และครั้งที่ 11 โดยทีมแข่งขันครั้งที่ 11 ประจำปี 2559 ประกอบด้วย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นายวชิราวิทย์ วัชระเดชคุณากรณ์, นายชัยมงคล อารมณ์ชื่น และนายณัฐวัตน์ ปรือทอง และนักศึกษาชั้นปีที่ 2 นายสุทธินัน หลักสิม, นายเจษฎา เดือนแร่รัมย์ และนายเสกสรร ชิมรัมย์ โดยมีอาจารย์สุพัฒ จารุกมล และอาจารย์สุรพล ไชยชนะ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและควบคุมทีม

อาจารย์สุพัฒ กล่าวว่า การแข่งขันคอนกรีตมวลเบาครั้งที่ 11 คณะกรรมการตัดสินได้ปรับเปลี่ยนกติกาการแข่งขันจากครั้งที่แล้ว โดยกำหนดคะแนนออกเป็น 4 ส่วน คือ การนำเสนอผลงาน ประสิทธิภาพของโครงสร้าง น้ำหนักเบา และความรวดเร็ว ซึ่งกติกาที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่คือ ขนาดของตัวอย่างมีปริมาตรมากขึ้น ขั้นตอนในการทำยุ่งยากมากขึ้น มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้น จากกติกาเดิมๆ ที่เคยแข่งมา

และที่สำคัญมีการให้ข้อมูลกติกาการแข่งขันล่วงหน้ามาประมาณ 30 วัน ก่อนลงแข่ง เมื่อได้ข้อมูลกติกาการแข่งขันมาแล้ว ทางทีมงานอาจารย์ นักศึกษาได้วางแผนการแข่งขัน ฝึกซ้อมกันจนประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้รางวัลถ้วยพระราชทานในเวทีการแข่งขันระดับประเทศมาแล้ว 5 รางวัล จากการแข่งขันวิชาการด้านโครงสร้างด้วยไม้ไอศกรีม และการแข่งขันคอนกรีตมวลเบา

ด้านนายวชิราวิทย์ วัชระเดชคุณากรณ์ “แบ้งค์” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หนึ่งในทีมแข่งขัน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้กับคณะและมหาวิทยาลัย สิ่งสำคัญที่สุดคือเราได้รับความรู้และประสบการณ์โดยตรงจากการฝึกซ้อมและแข่งขัน ซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติงานจริงในวิชาชีพได้