ประธาน ทปอ.เผย!แนวทางรับนักศึกษารูปแบบใหม่มี 5 รอบ “ราชภัฏ-ราชมงคล” ร่วมด้วย

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยในการประชุมสามัญ ทปอ.ครั้งที่ 1/2560 ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สจล. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้าร่วม เกี่ยวกับแนวทางการรับนักศึกษารูปแบบใหม่ว่า

ได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย ทปอ.จำนวน 30 แห่ง ร่วมกันพิจารณากระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป

โดยมีหลักการ 3 ข้อ 1) นักเรียนควรอยู่ในห้องเรียนจนจบชั้น ม.6 2) นักเรียนแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ์ ในการตอบรับในสาขาวิชาที่เลือก เพื่อความเสมอภาค และ 3) สถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย ทปอ.ทุกแห่งจะเข้าร่วมระบบ Clearing House เพื่อบริหาร 1 สิทธิ์ของนักเรียน

ทั้งนี้ การรับสมัครจะมีทั้งสิ้น 5 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 การรับด้วย Portfolio โดยไม่มีการสอบข้อเขียน สำหรับนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ นักเรียนโควตา นักเรียนเครือข่าย ให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษา

รอบที่ 2 การรับแบบโควตาที่มีการสอบข้อเขียนหรือข้อสอบปฏิบัติ โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ระบุไว้ สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือโควตาของโรงเรียนในเครือข่าย และโครงการความสามารถพิเศษต่างๆ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาจะประกาศเกณฑ์การสอบให้นักเรียนยื่นสมัครโดยตรงกับสถาบันอุดมศึกษาและเข้ารับการคัดเลือกตามเกณฑ์การสอบ

รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน สำหรับนักเรียนในโครงการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) โครงการอื่น ๆ และนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ.เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถเลือกได้ 4 สาขาวิชาโดยไม่เรียงลำดับ สถาบันอุดมศึกษาจัดให้มีการสอบกลางร่วมกันในเวลาเดียวกัน แต่ละสถาบันอุดมศึกษากำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเอง

รอบที่ 4 การรับแบบ Admission สำหรับนักเรียนทั่วไป โดย ทปอ.เป็นหน่วยกลางในการรับสมัคร นักเรียนสามารถเลือกสมัครได้ 4 สาขาวิชา แบบมีลำดับ โดยใช้เกณฑ์ค่าน้ำหนักตามที่ประกาศไว้ล่วงหน้า 3 ปี และรอบที่ 5 การรับตรงอิสระ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษารับโดยตรงด้วยวิธีการของสถาบันเอง เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนต่อ

การสอบคัดเลือกในแต่ละรอบเมื่อรับเสร็จจะทำการ Clearing กล่าวคือ นักเรียน 1 คน มี 1 สิทธิ์ในการยืนยันการเข้าศึกษาต่อในสาขาที่สอบได้ เมื่อยืนยันแล้วระบบจะตัดชื่อออกจากการมีสิทธิ์สมัครสอบรอบต่อไป หากต้องการสมัครสอบรอบต่อไปต้องสละสิทธิ์ก่อน แต่หากมีการลักไก่สมัครสอบครั้งต่อไปโดยไม่สละสิทธิ์และสอบได้จะถือเป็นโมฆะทันที

“การเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาครั้งนี้ จะทำให้นักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบ มีเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับตนเองมากขึ้น ไม่เป็นภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ลดความเครียดให้นักเรียนและผู้ปกครองได้อย่างแท้จริง”

ประธาน ทปอ.กล่าวต่อว่า สำหรับนักเรียน นักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ จะนำเข้าระบบ Clearing House ด้วยเช่นกัน ส่วนเด็กซิ่วก็สามารถเข้าสู่ระบบการคัดเลือกแบบใหม่นี้ได้เช่นกัน ส่วนกลางไม่ได้ปิดกั้น แต่ขอให้ศึกษาดีๆ เนื่องจากมีบางสาขาวิชาที่เด็กต้องลาออกก่อน ถ้าต้องการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ทั้งนี้ ทปอ.จะชี้แจงรายละเอียดของแต่ละสาขาวิชาว่า จะเปิดรับนักศึกษาในรอบใดบ้าง

“ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏ เข้าร่วมระบบการรับนักศึกษาแบบใหม่ในรอบที่ 1-3 และรอบที่ 5 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) จะเข้าร่วมรอบที่ 1-3 และในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน มีบางส่วนที่เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ” ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวเสริมว่า นักเรียนที่ใช้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ รวมทั้งที่จบหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทย ซึ่งเมื่อก่อนต้องเทียบวุฒิในการสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่ต่อไปนี้ไม่ต้องเทียบวุฒิ แต่ให้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการกำหนดวุฒิที่ต้องการว่า จะรับนักศึกษาแบบใด

“ทั้งนี้ ผมขอให้ ทปอ.นำรายละเอียดการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่นี้ขึ้นเว็บไซต์ พร้อมคำถามหรือข้อสงสัยที่เด็กอยากรู้ และให้ชี้แจงคำตอบที่ชัดเจน เพื่อให้ระบบคัดเลือกแบบใหม่นี้มีความกระจ่าง นักเรียนจะได้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ” รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว