ศธ.ขยับทำคำของบฯ 61 หนักใจ!ต้องดูแลปฐมวัย 3 ขวบอีกกว่า 7.5 แสนคน

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายและจุดเน้นการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 เมื่อเร็วๆ นี้

นพ.ธีระเกียรติ เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับสำนักงบประมาณ เพื่อวางแผนการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยได้ให้หลักการและแนวทางการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการใน 2 ส่วนหลักๆ คือ การจัดสรรงบประมาณจะต้องจัดสรรในรูปแบบ Bottom Up โดยระดับพื้นที่หรือผู้ปฏิบัติจะเขียนโครงการเพื่อเสนอขอรับงบประมาณมายังส่วนกลาง ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้การจัดสรรงบประมาณลงไปยังพื้นที่เป็นไปตามความต้องการ และความจำเป็นจริงๆ

นอกจากนี้ ต้องสอดคล้องกับจุดเน้นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 6 ด้าน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ประกอบด้วย 1) การเรียนการสอน เพื่อความปรองดอง ความสามัคคี โดยใช้รูปแบบ Active Learning (ความมั่นคง) โดยจะต้องดำเนินงานและกิจกรรมสำคัญ อาทิ การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์, ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้, เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ, สร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาทักษะชีวิต เป็นต้น

2) สร้างความสามารถในการแข่งขัน พัฒนากำลังคนให้มีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศเฉพาะด้าน (การผลิต พัฒนากำลังคน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน) โดยจะต้องดำเนินงานและกิจกรรมสำคัญ อาทิ จัดการศึกษาเพื่อความเชี่ยวชาญ/เป็นเลิศเฉพาะด้าน, Echo English Vocational, ผลิตกำลังคนด้านอาชีวะ, ประสานพลังประชารัฐด้านการศึกษา, พัฒนาครูแกนนำด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) เป็นต้น

3) พัฒนาหลักสูตร ผลิต และพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน) โดยจะต้องดำเนินงานและกิจกรรมสำคัญ อาทิ จัดการศึกษาเด็กปฐมวัย (อนุบาล 1-3), วางแผนให้ผล PISA สูงขึ้น, ประเมินผล O-NET วิชาสังคม วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์, เพิ่มวิชาภูมิศาสตร์ ICT และ Design and Technology, ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม, รณรงค์ “เกลียดการโกง”, ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (สพฐ. สอศ.), พัฒนาและอบรมครูเชื่อมโยงกับการได้รับวิทยฐานะ เป็นต้น

4) บริหารสถานศึกษา เพิ่มโอกาสทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล (การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา) โดยจะต้องดำเนินงานและกิจกรรมสำคัญ อาทิ โครงการโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน (ICU : Intensive Care Unit), เสริมสร้างคุณภาพสถานศึกษาขนาดเล็กให้ได้มาตรฐาน, จัดการศึกษาสำหรับกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ, พัฒนาการศึกษาในพื้นที่พิเศษ, ขับเคลื่อนแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เป็นต้น

5) สร้างความรู้ ความเข้าใจ จิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมตระหนักในการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) โดยจะต้องดำเนินงานและกิจกรรมสำคัญ อาทิ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ, ปลูกจิตสำนึก/นิสัยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

และ 6) ปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการศึกษา ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา (การพัฒนาระบบและการบริหารจัดการ) โดยจะต้องดำเนินงานและกิจกรรมสำคัญ อาทิ ปรับปรุง แก้ไข ระเบียบและกฎหมายการศึกษา, เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา เป็นต้น

“กระทรวงศึกษาฯจะเน้นขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นอันดับแรก เพื่อดูแลการศึกษาในระดับพื้นที่ก่อน และได้ขอให้ทุกคนคำนึงอยู่เสมอว่า ประชาชนจะได้รับอะไรจากการศึกษาและจากการทำงานของกระทรวงศึกษาฯ”

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมได้หารือประเด็นการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 54 ที่ระบุให้ “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาฯ” ซึ่งกระทรวงศึกษาฯจะต้องเตรียมการรองรับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย 3 ขวบ อีกกว่า 7.5 แสนคน

ที่ผ่านมารัฐจัดการศึกษาให้กับเด็กช่วงอายุ 4-5 ขวบ ได้เพียงครึ่งเดียว คือจำนวน 4 แสนคน จากจำนวนทั้งหมด 8 แสนคน ส่วนที่เหลืออยู่ในความดูแลของเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอยู่ที่บ้าน ดังนั้น หากรัฐจะต้องขยายจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย 3 ขวบ อีกกว่า 7.5 แสนคนด้วย ก็ต้องพิจารณาและหารือกันต่อไปว่า จะทำอย่างไร ทั้งเรื่องของงบประมาณซึ่งรัฐจะต้องจัดให้ฟรี เรื่องของการลงทุนเพื่อเปิดห้องเรียน การจ้างครู ฯลฯ เพราะรัฐอาจลงทุนเองทั้งหมดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าลำดับแรกอาจพิจารณาความพร้อมและศักยภาพของสถานศึกษาของรัฐในบางแห่ง ให้ขยายมาถึงเด็กอายุ 3 ขวบได้หรือไม่ แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่คงจัดเพิ่มไม่ได้ เพราะจัดเต็มที่อยู่แล้ว เช่น โรงเรียนอนุบาลบางแห่งที่จังหวัดสกลนคร จัดการศึกษาให้กับนักเรียนระดับชั้นละ 10 ห้องๆ เรียนละ 40 คน เป็นต้น ดังนั้น อาจต้องหารือร่วมกับเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษาอยู่แล้ว เพื่อสนับสนุนให้จัดการศึกษาได้มากขึ้น โดยรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่าย

“นอกจากนี้ สำหรับเรื่องการอบรมครู จะมีการปรับปรุงเช่นกัน เพื่อให้ครูสามารถเลือกอบรมในหลักสูตรที่ต้องการในรูปแบบระบบ Voucher หรือเครดิต มากกว่าปล่อยให้แต่ละหน่วยงานจัดอบรม โดยในส่วนนี้สำนักงบประมาณแจ้งว่า กระทรวงศึกษาฯสามารถบริหารจัดการได้เอง” นพ.ธีระเกียรติกล่าว