ส.ยานยนต์ ผนึก!เดลต้าฯ เปิดศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยี EV-ต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า


คลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเคลื่อนเข้ามา จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งผู้ประกอบการที่ยังต้องการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ จะต้องมีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และมีบุคลากรที่มีทักษะการผลิตสูงขึ้น 

สถาบันยานยนต์ จึงร่วมกับ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จัดงานสัมมนาถ่ายทอดความรู้และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ในหัวข้อ “อนาคตการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” สำหรับเอสเอ็มอีผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 100 ราย ณ เดลต้า อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เมื่อเร็วๆ นี้

พร้อมทั้งสานพลังประชารัฐเตรียมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยี EV และต้นแบบสถานีอัดประจุไฟฟ้า” ราวช่วงกลางปี พ.ศ.2560 ในโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ปัจจุบันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สร้างรายได้แก่ประเทศไทยปีละ 5-6 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สำคัญในภูมิภาค

ซึ่งแนวโน้มกระแสตลาดโลก และรัฐบาลไทยปัจจุบัน มีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) เพื่อประสิทธิภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคต จะส่งผลกระทบต่อตลาดชิ้นส่วนฯแตกต่างกัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน 1 คัน มีชิ้นส่วนเครื่องยนต์มากกว่าชิ้นส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่า ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคต อาทิ ท่อไอเสีย ระบบจ่ายน้ำมัน ถังน้ำมัน เกียร์ จะลดลง โดยคาดว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะเริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 เป็นต้นไป

นายวิชัย จิราธิยุต (Mr.Vichai Jirathiyut) ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า การผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อส่งออกของไทยอยู่อันดับ 12 ของโลก ฝีมือของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ส่วนใหญ่ที่เราผลิตส่งออกคือรถปิ๊กอัพ รองลงมาคือรถ Eco Car ในปี คศ.2015 เราผลิตรถยนต์ได้ 1.9 ล้านคัน คาดว่าปี 2016 จะผลิตได้ 1.95 ล้านคัน โดยมีเป้าหมายในปี 2020 จำนวนผลิตที่ 3 ล้านคัน/ปี

ประเทศไทยมีค่ายรถยนต์ ทั้งสวีเดน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น โรงงานผลิตส่วนใหญ่อยู่ จ.สมุทรปราการ และภาคตะวันออกเป็นหลัก แต่ละค่ายให้ความสนใจมาลงทุนที่ประเทศไทย เพราะสภาพภูมิประเทศเป็นแลนด์มาร์ค ใกล้พม่า กัมพูชา ลาว และจีน ทำให้เราเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนหรือของโลกได้ดี

ด้านโครงการศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Hybrid, Plug-in hybrid, Battery EV และ Fuel cell) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมความรู้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ประกอบการ ภาครัฐและประชาชนทั่วไป

“ในโครงการประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก 1) การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและสถานีประจุไฟฟ้า 2) การจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าและรายงานศึกษาที่เกี่ยวข้อง และ 3) การสัมมนาและประชาสัมพันธ์โครงการเทคโนโลยียานยนต์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ด้าน นายเซีย เชนเยน (Mr.Hsieh Shen-yen) ประธานบริหาร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำอิเล็คทรอนิคส์ของโลก และนวัตกรรมเครื่องชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) กล่าวว่า ในรูปแบบอุตสาหกรรม 4.0 สิ่งสำคัญในกระบวนการผลิตในโลกอนาคต คือ เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หรือ Industrial Automation นับเป็นเทรนด์ของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่ความทันสมัย คุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ซึ่งระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และดิจิตอล IoT สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับมนุษย์ และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น