“บอร์ด สปสช.” ช่วยแก้ปัญหาเด็กนักเรียนสายตาผิดปกติ คาดมีมากกว่า 3 แสนคน จำเป็นต้องใส่แว่น


นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาสายตานักเรียนผิดปกติ เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ด้านสุขภาพ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (ไฮแทป) เพื่อคัดกรองสายตาผิดปกติในนักเรียนทั่วประเทศ

โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้อนุมัติให้การตรวจคัดกรองและแก้ปัญหาสายตาในเด็ก อยู่ในสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เด็กจะต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปีงบประมาณ 2559  

ทั้งนี้ สปสช.ได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการร่วมกรมอนามัยในการพัฒนาศักยภาพและกลไก เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองนักเรียนที่มีสายตาผิดปกติ อาทิ การอบรมครูเพื่อทำการคัดกรองสายตาในเด็กนักเรียน

สำหรับการตรวจยืนยันภาวะสายตาผิดปกตินั้น กรมการแพทย์ และ service plan จักษุ โดยทีมจักษุแพทย์ในพื้นที่จะวางแผนบริการ ตรวจยืนยัน และวัดสายตาเพื่อส่งประกอบแว่นที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน และหากพบเด็กที่มีภาวะสายตาขี้เกียจ ก็จะได้รับการรักษาตามระบบบริการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกแบบไว้ ทั้งนี้ ค่าบริการรักษา บอร์ด สปสช.ได้มีการจัดสรรงบประมาณโดยรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายให้กับหน่วยบริการแล้ว

นพ.จักรกริช กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดหาแว่นตาให้กับเด็กนักเรียนที่มีสายตาผิดปกติ ในระยะเริ่มแรก สปสช.ได้สนับสนุนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อดำเนินการจัดหาแว่นตาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ให้เด็กนักเรียนในรวมระดับประเทศไปก่อน พร้อมเป็นศูนย์กลางเบิกจ่ายแว่นตาให้เด็กนักเรียนโดยผ่านหน่วยบริการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเบิกจ่ายแว่นตาไปแล้ว

และในระยะต่อไปเพื่อให้เกิดการกระจายแว่นตาอย่างทั่วถึงและรวดเร็วยิ่งขึ้น จะดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมเพื่อจัดหาแว่นตาให้เด็กนักเรียนต่อไป  

ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 นี้ กระทรวงสาธารณสุข สปสช.และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังคงร่วมเดินหน้าโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของ บอร์ด สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีในการจัดแว่นตาให้กับเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้น จากจำนวน 20,000 อัน ในปี 2559 เป็นจำนวน 25,000 อัน ในปี 2560 จะทำให้เด็กนักเรียนที่มีสายตาผิดปกติได้รับการแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้น

“ภาวะสายตาผิดปกติในเด็กนักเรียนนับเป็นปัญหาสำคัญ เพราะจะส่งผลกระทบทั้งด้านการเรียนและพัฒนาการของเด็กในอนาคต จึงต้องเร่งดำเนินการ”

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวด้วยว่า การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติให้กับเด็กนักเรียน เป็นผลจากการศึกษาโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ที่ได้สำรวจสายตาเด็กไทยอายุ 3-12 ปี ในปี 2554-2555 พบเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตาร้อยละ 4.1

ในจำนวนนี้มีเด็กใส่แว่นแล้วก่อนหน้าการคัดกรองเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น แต่ปรากฎว่าแว่นเดิมที่เด็กใส่มีความถูกต้องตามค่าสายตาเด็กเพียงแค่ร้อยละ 0.25 ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะมีเด็กที่มีสายตาผิดปกติ 5.7 แสนคน โดย 3.5 แสนคนจำเป็นต้องใส่แว่น มีเด็กที่ตัดแว่นแล้ว 8 หมื่นคน แต่ใส่แว่นถูกต้องกับค่าสายตาประมาณ 2 หมื่นคน ดังนั้น ยังคงมีเด็กมากกว่า 3 แสนคนที่จำเป็นต้องใส่แว่น