42 ร.ร.ชัยนาท ใช้หลักสูตรเรียนรู้จากงานวิจัย กระตุ้น น.ร.กินผักผลไม้ได้ผล!


สมาคมพัฒนาผู้ประกอบการผู้สูงอายุชนบท ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จังหวัดชัยนาท จัดงานประชุมวิชาการ “โรงเรียนส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้” ตามโครงการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้บูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องคุณค่าผักและผลไม้ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ โรงเรียนอนุบาลชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท เพื่อลดปัญหาภาวะโรคอ้วนในเด็กไทยยุคดิจิทัล เมื่อเร็วๆ นี้

โดยเน้นให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน เห็นความสำคัญของการบริโภคผักและผลไม้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กไทยให้หันมาบริโภคผักและผลไม้มากยิ่งขึ้น ซึ่งภายในงานมีการจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิชาการเกี่ยวกับคุณค่าของผักและผลไม้ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกผักในโรงเรียนไว้ให้นักเรียนบริโภคเป็นอาหารกลางวัน

รวมถึงจัดนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ให้แก่โรงเรียนอื่นๆ หน่วยงานต่างๆ และบุคคลทั่วไป ตลอดจนมีการจัดประกวดเมนูอาหารสำหรับเด็กนักเรียนด้วยคุณค่าผักและผลไม้ 5 สี การแข่งขันตอบคำถาม และการเผยแพร่ความรู้ด้านการทำสื่อ POP UP เรื่องคุณค่าผักและผลไม้ 

ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดเมนูอาหารสำหรับเด็กนักเรียนด้วยคุณค่าผักและผลไม้ 5 สี ได้แก่ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนสำราญราษฎร์บำรุง : เมนูล่าเตียนผัดราดซอสซีซ่าร์, รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนวัดมะปราง : เมนูส้มตำโรล, รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 โรงเรียนรัฐเขื่อนพลเทพอุปถัมภ์ : เมนูแกงเห็ด

ส่วนรางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้แก่ 1.โรงเรียนวัดประชุมธรรม (สัจจะญาณ) : เมนูคลีน คลีน สลัดโรล 2.โรงเรียนวัดสมอ : เมนูส้มตำหลอด 3.โรงเรียนสระดู่ : เมนูส้มตำพอเพียง

สำหรับโรงเรียนที่ได้รับรางวัลด้านการตอบปัญหาเรื่องผักผลไม้ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 โรงเรียนอนุบาลชัยนาท, รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 โรงเรียนวัดดักคะนน และรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 โรงเรียนบ้านไผ่นกยูง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 ของโรงเรียนทั้ง 42 แห่ง ใน จ.ชัยนาท ได้ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องคุณค่าผักใน 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา และวิชาวิทยาศาสตร์ รวม 7 หน่วยการเรียนรู้ โดยคุณครูใช้เครื่องมือการสอนทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในผักผลไม้

ส่วนทางด้านการบริหารจัดการ โรงเรียนได้ปรับเมนูอาหารกลางวันและอาหารว่างให้เด็กรับประทานผักผลไม้ 5 สีมากขึ้น อย่างเมนูข้าวใส่สีดอกอัญชัญ อาหารว่างจัดให้มีผลไม้ตามฤดูกาล 3 วัน จากเวลาการเรียนการสอน 5 วัน แทนที่การเป็นขนมหวานเพียงอย่างเดียว ตลอดจนมีการสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกผักและผลไม้

ทั้งนี้ จากการดำเนินการทั้งหมด ยังผลให้เด็กนักเรียนใน 42 โรงเรียนของ จ.ชัยนาท มีพฤติกรรมการบริโภคผักและไม้ผลไม้มากขึ้นอย่างสมัครใจ