“อาชีวะ” จัดแข่งหุ่นยนต์ ประจำปี 2560


สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดงานมหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษาระดับชาติ ประจำปี 2560 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2560 ณ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี โดย สอศ.ได้รับความร่วมมือจากศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดพื้นที่การแข่งขัน

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า การแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา เป็นโครงการที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในการพัฒนาหุ่นยนต์ ให้สามารถใช้งานได้จริง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ด้านการแพทย์ หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์กู้ภัยที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ อีกทั้งส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาหันมาสนใจศาสตร์ด้านหุ่นยนต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น

รวมถึงเป็นการสนับสนุนการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความสามัคคี ซึ่ง สอศ.ได้ให้ความสำคัญ และส่งเสริมให้มีการประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ทีมผู้ชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ ในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยการแข่งขันหุ่นยนต์ 4 ประเภท ได้แก่

1) การแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา หรือ เอบียู โรบอท คอนเทสต์ (ABU : Asia-Pacific Robot contest) เพื่อคัดเลือกทีมหุ่นยนต์ตัวแทนระดับอาชีวศึกษา เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ เอบียู โรบอท คอนเทสต์ ชิงแชมป์ประเทศไทย ไปเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ณ ประเทศญี่ปุ่น ในโจทย์ “ยุทธการจานร่อน” โดยการยิงจานไปวางบนเสาให้ได้มากที่สุด โดยมีทีมหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จากสถานศึกษาทั่วประเทศจำนวน 128 ทีม

2) การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย (Rescue Robot) เป็นการส่งเสริมวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ ที่สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ มีทีมหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 43 ทีม ในสถานการณ์สมมติจำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหว ค้นหาผู้ประสบภัยในอาคาร

3) การประกวดและแข่งขันหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม (Arm Industrial Robot) โดยในปีนี้เป็นการแข่งขันแบบพิเศษ ที่สถานประกอบการได้นำหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมจริงที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม มาใช้ในการแข่งขัน โดยทีมผู้แข่งขันจะต้องออกแบบโปรแกรมเชื่อมเหล็ก และสามารถบังคับใช้โปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานได้จริง โดยมีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 30 ทีม

และ 4) การประกวดหุ่นยนต์มือกลแขนกลเพื่อคนพิการ (Hand -Arm Robot) เป็นการจัดทำหุ่นยนต์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตแก่ผู้ด้อยโอกาสพิการทางแขน และมือให้มีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ด้านอาชีวอนามัยให้ดียิ่งขึ้น โดยมีทีมส่งเข้าประกวด จำนวน 20 ทีม