หนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

 ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

                ด้วยเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญแล้ว และทรงดำเนินตามกระบวนการอัญเชิญรัชทายาทเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ ตามขั้นตอนของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

ในวันนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเพื่อความเป็นสิริมงคลของปวงชนชาวไทย ขอนำท่านผู้อ่านสัมผัสพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

                คือโครงการหนองอี่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดิน ราษฎรในเขตตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จำนวน ๓ หมู่บ้าน กว่า ๗๔๐ ครัวเรือน ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมไร่นาและที่อยู่อาศัยเป็นประจำทุกปี เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพลุ่มต่ำ และเป็นจุดที่ลำน้ำยังไหลมาสมทบกับแม่น้ำชี เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจึงไหลหลากเข้าท่วมไร่นา เส้นทางคมนาคม และที่ตั้งชุมชนเป็นบริเวณกว้างนับหมื่นไร่ ส่งผลให้พืชผลส่วนใหญ่ของราษฎรในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะข้าวนาปี เสียหายเป็นจำนวนมาก การเดินทางสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก และในบางชุมชนราษฎรต้องอพยพย้ายของหนีน้ำไปอยู่อาศัยบนพื้นที่สูงอยู่ทุกปี

                เมื่อฝนผ่านไปเข้าถึงฤดูแล้ง ราษฎรส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร และการดำรงชีวิต เนื่องจากในพื้นที่มีแหล่งเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ ที่มีอยู่ก็ขาดศักยภาพเนื่องจากตื้นเขิน ทำให้ไม่มีน้ำเพาะปลูกพืช เพื่อชดเชยโอกาสและผลผลิตที่เสียหายไปในช่วงน้ำหลากได้อย่างเต็มที่

                "หนองอึ่ง" แหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญในพื้นที่ มีสภาพตื้นเขินจากตะกอนน้ำหลากปีแล้วปีเล่า ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากพอสำหรับใช้ประโยชน์หน้าแล้ง และระดับน้ำในแม่น้ำชีในช่วงฤดูแล้งก็มักลดลงต่ำมาก เกินกว่าที่จะนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายๆ นอกจากจะใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ดึงน้ำขึ้นมา

                นอกจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากแล้ว ปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่งในพื้นที่ก็คือ ความเสื่อมโทรมของ "ป่าดงมัน" ป่าชุมชนที่มีลักษณะเป็นป่าดิบแล้งผสมเต็งรังบนเนินทรายขนาดใหญ่เกือบ ๓,๐๐๐ ไร่ ใกล้กับหนองอึ่ง ซึ่งถูกราษฎรบุกรุกแผ้วถางเป็นที่ทำกิน รวมทั้งเก็บหาของป่าและใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์อย่างไม่มีการควบคุม จนกระทั่งเหลือป่าที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์เพียง ๓๐๐ ไร่ ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนโดยรอบ ซึ่งอาศัยป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารประจำครัวเรือน โดยปัญหานี้มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของประชากรและระบบเศรษฐกิจ

                วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตำบลค้อเหนือ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย ในการนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำริให้ส่วนราชการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่

 ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดินโดยพระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการขุดลอกหนองอึ่ง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรและเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลา พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ รวมถึงชาวชุมชน ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงสภาพดิน เพื่อลดปัญหาดินชะล้างพังทลาย

 พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าดงมันบริเวณหนองอึ่ง เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลกัน

 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องจากพระราชดำริ จึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยเป็นโครงการในลักษณะบูรณาการ ที่ส่วนราชการรวมถึงราษฎรในชุมชน มีบทบาทในการวางแผนและขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ รวมกันใน ๓ มิติ คือ

มิติที่ ๑ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

                ๑) มีการสนองพระมหากรุณาธิคุณ โดยปรับปรุงและพัฒนาหนองอึ่งฯพื้นที่ประมาณ ๕๕๐ ไร่ ด้วยการขุดลอกตะกอนดิน ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีความจุประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร เป็นประมาณ ๖๔๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ส่วนดินที่ขุดลอกขึ้นมาได้นำไปปั้นเป็นคันดินโดยรอบบริเวณหนองน้ำ เพื่อทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ ในขณะเดียวกันก็เป็นด่านป้องกันตะกอนดินที่แม่น้ำพัดพามา รวมทั้งเป็นเส้นทางสัญจรของราษฎรในพื้นที่อีกด้วย

                นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ จำนวน ๔ แห่ง ในบริเวณหนองอึ่งด้านที่รับน้ำจากแม่น้ำชี เพื่อทำหน้าที่เปิดรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนมาเก็บกักไว้ และเป็นตัวควบคุมการส่งน้ำโดยแรงโน้มถ่วงของโลกผ่านระบบคลองส่งน้ำ ๓ สาย ความยาวรวม ๓,๐๐๐ เมตร จากหนองอึ่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรในช่วงฤดูแล้ง หรือเมื่อเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง

                การปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันหนองอึ่งฯแม้มีสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แต่มีศักยภาพในการเก็บกักน้ำ ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงในด้านการเก็บกักน้ำไว้เพื่อพื้นที่การเกษตรและอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและทำการประมงที่สำคัญ รวมทั้งเป็นแหล่งอยู่อาศัยของนกน้ำหลายชนิดอีกด้วย

                ๒) ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ โดยปรับปรุงและพัฒนาดิน ดำเนินการปลูกต้นไม้และหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในบริเวณพื้นที่โดยรอบหนองอึ่งฯ ซึ่งมีความลาดชันค่อนข้างสูง และดินมีสภาพเป็นดินร่วนปนทราย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดินชะล้างพังทลาย และส่งผลให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขินตามมา

                ๓) ฟื้นฟูและพัฒนาป่าไม้ ดำเนินการฟื้นฟู "ป่าดงมัน" ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรม พร้อมทั้งกันแนวเขตพื้นที่ป่าให้ชัดเจน รวมพื้นที่ประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ โดยการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "ปลูกป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่าง" เป็นหลัก เพื่อให้ป่าผืนดังกล่าวฟื้นตัวอุดมสมบูรณ์ขึ้นมีสภาพการเป็นป่าชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่า พร้อมกันนั้นก็เปิดโอกาสให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านอนุรักษ์ของโครงการและปลูกฝังจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ในชุมชน โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ราษฎรใน ๗ ชุมชน และส่วนราชการได้ร่วมกันจัดตั้งป่าดังกล่าวเป็น "ป่าชุมชนดงมัน" มีการกำหนดระเบียบกติกาการใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกันอย่างชัดเจน

               ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดินผลจากการดำเนินงานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป่าดงมันฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว พรรณไม้ใหญ่จำพวกยางนา พะยอม และแดง เติบโตโดยไม่ถูกตัดฟัน และราษฎรได้ใช้ประโยชน์จากป่าในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ฟืนและไม้ใช้สอย รวมถึงของป่า และสมุนไพรชนิดต่าง

มิติที่ ๒ การบริหารจัดการทรัพยาธรรมชาติ

                ๑) การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ดำเนินการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการเก็บกักน้ำเพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งประมงของราษฎรในพื้นที่ และการรักษาระบบนิเวศธรรมชาติ สำหรับน้ำส่วนที่เหลือจะถูกส่งไปสนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งผ่านระบบคลองส่งน้ำที่ก่อสร้างไว้ โดยในจุดนี้ราษฎรกลุ่มผู้ใช้น้ำจะวางแผนการใช้น้ำและเพาะปลูกร่วมกับทางราชการ

                อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่โครงการยังคงประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอยู่ เนื่องจากปริมาณน้ำในหนองอึ่งฯมีจำกัด สามารถถ่ายไปให้พื้นที่การเกษตรได้ไม่มากนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการจะวางแผนดำเนินงานให้ความช่วยเหลือราษฎรต่อไป

                ๒) การจัดการที่ดิน ขับเคลื่อนโดยยึดแนวพระราชดำริ โครงการได้จัดแบ่งที่ดินว่างเปล่าบางส่วนบริเวณริมหนองอึ่งฯ และป่าชุมชนดงมันออกเป็นแปลงๆ ให้กับราษฎรที่ "หัวไว ใจสู้" แต่มีที่ดินทำกินจำกัด ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ทำการเกษตรตามที่ตนเองถนัด พร้อมทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนด้านความรู้ทางการเกษตรและปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งการปลูกพืชเศรษฐกิจ เลี้ยงสัตว์ และการประมง ทางหนึ่งก็เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ด้อยโอกาส อีกทางหนึ่งก็เพื่อจัดเป็นพื้นที่สาธิตด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สำหรับให้คนในพื้นที่และผู้สนใจเข้าไปศึกษาดูงาน ในลักษณะ "เกษตรกรต้นแบบ"

                ๓) การจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริที่พระราชทานไว้ โครงการได้วางระบบการบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ป่าชุมชนดงมันร่วมกับราษฎร รวมทั้งดำเนินการต่อยอดการพัฒนา โดยส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากป่าชุมชน ซึ่งมีปริมาณมากนับสิบตันในแต่ละปี ได้แก่ เห็ดโคนชนิดต่างๆ เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก ไข่มดแดง และแม่เป้ง (มดแดงที่เป็นราชินีมด) เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับราษฎร นอกเหนือไปจากการเพาะปลูก

มิติที่ ๓ การพัฒนาอาชีพ

                การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎรในพื้นที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ได้เสด็จฯไปยังพื้นที่และพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร โดยให้สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ ในเวลาเดียวกันก็ร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติไปด้วย ให้อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน จึงเป็นกิจกรรมที่โครงการได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าและน้ำ โดยเน้นบทบาทในด้านการส่งเสริมและให้ความรู้ทางการเกษตรสาขาต่างๆ ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมอาชีพและการจัดแปลงสาธิต รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร เช่น พันธุ์ไก่ สุกร สัตว์น้ำ น้ำเชื้อสำหรับผสมเทียม และเวชภัณฑ์สัตว์ เป็นต้น และส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่นคือ การส่งเสริมงานศิลปาชีพ และการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

                โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ได้มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่ตำบลค้อเหนือ โดยเฉพาะในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่บริเวณหนองอึ่งฯ และป่าชุมชนดงมันอย่างแนบแน่น

                นับเป็นที่ประจักษ์ได้ถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ทรงห่วงใยราษฎรมาอย่างต่อเนื่อง โดยทรงดำเนินพระองค์ตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างจริงจัง

                 ผลสำเร็จโดดเด่นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริก็คือ การผสมผสานระหว่างกิจกรรมการอนุรักษ์เข้ากับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ทำให้ราษฎรซึ่งได้รับประโยชน์จากป่าในรูปแบบที่หลากหลาย เกิดความตระหนักและสัมผัสถึงคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ "คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลกัน"

ขอถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

                                                       ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

                                                        (สำนักงาน กปร./ข้อมูล)