“พิษณุ ตุลสุข” ลั่น! ไม่ใช่หน้าที่ สกสค.ต้องไปไล่บี้ครูเบี้ยวหนี้ ช.พ.ค. ทวงคืน! ธ.ออมสิน หลายพันล้าน


ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยถึงการแก้ปัญหาหนี้สินครูว่า สกสค.สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้ แต่ธนาคารออมสินก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย โดยมีการคัดแยกลูกหนี้ที่มีเจตนาเบี้ยวการชำระหนี้ หรือลูกหนี้ที่ไม่มีเจตนาเบี้ยวชำระ แต่มีเหตุผลความจำเป็น ก็ต้องคัดแยกให้ได้ ซึ่งทาง สกสค.เรามี ผอ.สกสค.จังหวัดอยู่ทั่วประเทศอยู่แล้ว เขาย่อมมีข้อมูลว่า มีครูคนใดที่มีสภาวะที่ลำบากจริงๆ หรือใครที่มีเจตนาที่ไม่ยอมชำระ

ถ้าพบว่ารายใดมีเจตนาไม่ชำระจริงๆ ธนาคารออมสินในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย คือฟ้องร้อง ไม่ใช่มาหักเอาเงินจากกองทุน ช.พ.ค.แบบนี้ไม่ได้ จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้คือธนาคารออมสิน ไม่ใช่ สกสค.ที่ต้องไปไล่บี้เก็บแทนธนาคารออมสิน ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกัน และทางธนาคารออมสินก็ต้องมาพูดคุยหารือกัน

แม้ว่าธนาคารออมสินอาจจะถือว่า เงินหักจากบัญชีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. จะเป็นเงินที่ธนาคารให้คืนแก่ สกสค. แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาหักเอาเงินจำนวนนี้ไปชำระหนี้แทนสมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้ที่ไม่ชำระหนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการทำบันทึกข้อตกลงไว้กับเลขาธิการ สกสค.คนเก่าก็ตามที

ซึ่งตนมองว่า สิ่งที่อดีตเลขาธิการ สกสค.คนเก่าทำข้อตกลงกับธนาคารออมสินไว้ดังกล่าว เขาอาจมีเจตนาดีและปรารถนาดีในการช่วยเหลือเพื่อนครูที่จำเป็นจริงๆ แต่กลายเป็นว่าเงินส่วนนี้ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งทาง สกสค.ชุดปัจจุบันกำลังจะขอรับเงินกองทุนส่วนนี้คืนอยู่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องเอาคืน เพราะเป็นเงินของ สกสค. และ สกสค.ก็ไม่มีหน้าที่ในการใช้หนี้แทนลูกหนี้

ในวันที่ 6 มกราคม 2560 มีการประชุมแก้ปัญหาเรื่องนี้กับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า จะมีนโยบายออกมาอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าความปรารถนาดีบางครั้งถ้าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องมีการปรับแก้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยยอมให้เลยตามเลยไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่าตนบกพร่องในหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ กลายเป็นความรับผิดชอบของตน

ตนยืนยันว่าคงจะให้ธนาคารออมสินหักเงินจากกองทุน ช.พ.ค.อีกไม่ได้แล้ว และที่หักไปก็ต้องนำมาคืน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และธนาคารออมสินก็เอาเงินจากบัญชีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ไปเยอะแล้ว เป็นจำนวนหลายพันล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตนกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่อยู่ในภาวะวิกฤต ถ้าแก้ได้ในส่วนนี้ก็จะสามารถขยายผลแก้ไขในภาพรวมในอนาคตได้ ทั้งนี้ ตัวเลขครูที่อยู่ในภาวะวิกฤตนั้น คงต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมในวันที่ 12 มกราคม 2560 นี้อีกครั้ง รวมถึงข้อสรุปต่างๆ

ทั้งนี้ ขอย้ำว่า สกสค.ไม่มีอำนาจหน้าที่จะไปชำระหนี้แทนใคร ใครเป็นหนี้คนนั้นก็ยังเป็นหนี้ต่อไป ซึ่งเมื่อไปกู้เงินใครเขามา ก็ต้องชำระเงินให้กับเจ้าของเงิน ถ้ามีหนี้ก็ต้องชำระ และการที่คุณไม่ชำระวันนี้ วันต่อไปก็ต้องชำระ และยิ่งชำระช้าเท่าไหร่ ดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ถ้าใครคิดว่าตัวเองหัวหมอ ก็ให้กลับตัวกลับใจไปชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ซึ่งบางคนที่ไม่ยอมชำระถึง 60-70 งวด ซึ่งธนาคารออมสินก็ควรจะไปฟ้องร้อง แต่ก็ไม่ยอมทำอะไรเลย เพราะว่าธนาคารเขาไม่เดือดร้อน เขาไปเอาเงินจากกองทุน ช.พ.ค.ไปชำระแทนได้ ตอนนี้ต้องไม่ได้แล้ว เราจะหยุดเลือดไม่ให้ไหลออกอีกต่อไป

เราต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการ แม้ว่าในหลักการทางปฏิบัติอาจจะเห็นผลช้าก็ตาม แต่กฎหมายอย่างไรก็คือกฎหมาย ไม่มีใครจะใหญ่กว่ากฎหมายไปได้ ถ้าคนเราไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง แล้วสังคมเราจะสงบสุขได้อย่างไร

การอะลุ่มอล่วยดูแลกันด้วยเหตุผลความจำเป็น ความเมตตาก็มี แต่สำหรับคนที่หัวหมอ หรือดื้อ โดยมีเจตนาเบี้ยวชำระหนี้ ก็ต้องเอากฎหมายมาจัดการ ใครที่รู้ตัวเองว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเบี้ยวชำระหนี้ ถ้ามีเงินก็ต้องรีบมาชำระ เพราะอย่างไรเสียก็เป็นหนี้ของคุณ

“การที่คุณดองเงินต้นไว้ไม่ไปส่ง อย่าลืมว่าดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน บางคนเป็นหนี้สินท่วมตัว และตกเป็นกรรมของทายาทของคุณ หรือคนที่ค้ำประกันคุณจะเดือดร้อน ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องชำระ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายหมด คนไม่เคารพกฎหมายแล้วบ้านเมืองจะอยู่ได้อย่างไร สังคมก็ไม่สงบสุข จะใหญ่แค่ไหนผมก็ไม่กลัว” ดร.พิษณุกล่าว