หมู่บ้านกูแบซีราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร


ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

                เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นวันแห่งการรอคอยของชาวบ้านกูแบซีรา ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยการเสด็จพระราชดำเนินมาของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งวันนี้คือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่ได้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเพราะทรงรู้ว่าราษฎร ณ ที่แห่งนี้ได้รับความทุกข์ยากแร้นแค้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยคุณภาพ ทุกชีวิตเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะบ้านกูแบซีราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีราษฎรอยู่เพียง ๕๕๕ คน ๙๕ หลังคาเรือน เป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมด

“กูแบซีรา” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในอดีตสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ดินเป็นดินร่วนปนทราย ทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรัง ราษฎรส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นเป็นอย่างมาก ในช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะไหลมาจากเขาตูมและเขาลานควาย ไหลทะลักเข้าสู่บริเวณพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้าน ที่ถูกปิดกั้นโดยถนนและคันคูส่งน้ำ จึงทำให้น้ำเอ่อล้นทะลักเข้าสู่หมู่บ้าน เกิดน้ำท่วมขังบริเวณหมู่บ้าน นาข้าว พืชผักและไม้ผลได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ตามฤดูกาล สัตว์เลี้ยงตายและไม่มีที่อยู่อาศัย ถนนหนทางภายในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมขัง ยิ่งไปกว่านั้น ในฤดูแล้งไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ในบ่อน้ำตื้นที่ราษฎรขุดไว้ น้ำจะมีสนิมไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ ราษฎรในบ้านกูแบซีราจึงมีความยากลำบากเป็นอย่างมาก “แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อนนี้”

ณ บ้านกูแบซีราแห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ทรงศึกษาข้อมูลและทรงสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ โดยเสด็จฯขึ้นไปบนบ้านของนายดอเลาะ บือแน ชาวมุสลิม ทำให้ทรงรับทราบปัญหาด้วยภาษายาวีผ่านล่ามว่า ราษฎรที่นี่ขาดแคลนน้ำดื่ม และเมื่อถึงฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เพราะไม่มีคูน้ำช่วยในการระบายน้ำ

นายดอเลาะ กราบบังคมทูลว่า “ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯมาที่บ้าน”

ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ทุกพระองค์ทรงห่วงใยราษฎร ก็เพราะเป็นห่วง จึงได้มา” พระราชกระแสที่ทรงตอบนายดอเลาะไปนั้น สร้างความปลื้มปิติแก่นายดอเลาะ และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้น ทำให้ทุกคนได้รับรู้ถึงพระราชหฤทัยห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกร

วันนั้นใกล้เวลา 19.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ยังทรงรับฟังสภาพปัญหาของพื้นที่จากส่วนราชการที่กราบบังคมทูลรายงาน ทั้งเรื่องน้ำ ดิน และความเป็นอยู่ของราษฎร จากนั้นจึงได้พระราชทานคำแนะนำ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาว่า

“ให้แก้ไขปัญหาเรื่องเร่งด่วนก่อน พร้อมทั้งศึกษาในภาพรวม เมื่อได้ศึกษาในภาพรวมทั้งระบบแล้ว ให้ดูว่าส่วนใดจะแก้ไขอย่างไร และให้แก้ไขไปทีละส่วนเป็นขั้นตอน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบ” แล้วมีรับสั่งให้ประสานงานกันให้ดี

เมื่อส่วนราชการได้รับทราบพระราชดำริแล้ว สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จังหวัดปัตตานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเพื่อช่วยเหลือราษฎรอย่างเร่งด่วน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้นเพื่อกำกับ ดูแล ดำเนินการจัดทำแผนงานและกำหนดแนวทางในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ซึ่งปัญหาที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ และน้ำท่วมขัง ตลอดจนการใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรในพื้นที่ การกำหนดแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ และความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ได้แก่ การคมนาคม การศึกษา และการสาธารณสุข

ปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยการแก้ไข โดยการจัดทำประปาหมู่บ้านแบบบาดาลขนาดกลาง และจัดส่งให้ถึงราษฎรในพื้นที่ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณหมู่บ้าน และที่ทำกิน โดยการขุดคลองและทำอาคารระบายน้ำท่อลอดในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น ได้จัดวางระบบจากระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี เพื่อให้ราษฎรได้รับน้ำอย่างทั่วถึง และสามารถทำการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงฤดูแล้ง

สุขทั้งแผ่นดิรการพัฒนาพื้นที่เพื่อการเกษตร คณะทำงานได้สนองพระราชดำริโดยได้วางแผนให้นำผลการศึกษาทดลองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำมาประยุกต์ใช้ให้แก่ราษฎร ทั้งในด้านการแก้ไขและปรับปรุงดิน โดยการสาธิตการพัฒนาที่ดิน ปรับปรุงพื้นที่ดินเสื่อมโทรม และจัดระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลุ่ม ให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนการพัฒนาอาชีพเกษตร ได้เน้นส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎร โดยวางแผนการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะข้าว ส่งเสริมการปลูกไม้ผลพันธุ์ดี ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ เกษตรผสมผสาน และการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช

สำหรับงานด้านปศุสัตว์ มีการส่งเสริมการเลี้ยงโค แพะ และสัตว์ปีกอย่างถูกต้อง ด้านการประมง มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ราษฎรพอมีพอกินต่อการยังชีพต่อไป

พร้อมกันนี้ ได้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตรควบคู่กันไป โดยจัดตั้งกลุ่มอาชีพสตรี กลุ่มอาชีพเยาวชน จัดตั้งหมู่บ้านตัวอย่างฝึกอาชีพเพื่อยกระดับสาขาช่างฝึกจักร สาขาอาหารและขนม และสาขาทอเสื่อ ซึ่งดำเนินการอยู่แล้วในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และมีรายได้ที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ มีการดูแลโครงสร้างพื้นฐานและความจำเป็นพื้นฐานของราษฎร ด้วยการปรับปรุงถนนให้สามารถสัญจรได้ตลอดทั้งปี ตลอดทั้งดูแลแก้ไขปัญหาสาธารณสุขมูลฐาน ด้วยการรณรงค์และเร่งรัดการมีส้วมใช้ เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหาร

ทุกภาคส่วนได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชปณิธานคือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎร สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขยั่งยืนบนความพอเพียงพออยู่พอกิน

ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงบำบัดทุกข์และบำรุงสุขแก่ราษฎรบ้านกูแบซีรา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จึงมีพระราชกระแสรับโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบซีราไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จากผลการพัฒนาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เพียงแต่ราษฎรที่บ้านกูแบซีราเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ แต่ยังทำให้ราษฎรในเขตพื้นที่บ้านปูลากาซิง และบ้านใกล้เคียงในตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้รับประโยชน์จากพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวด้วย

สุขทั้งแผ่นดิน แนวทางการพัฒนาพื้นที่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารนั้น ทรงให้ดำเนินการตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือมีพระราชประสงค์ให้ทุกหน่วยงานประสานและร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินงาน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนภายใต้แผนงานที่กำหนดไว้ เป็นการลดปัญหาความซ้ำซ้อน และการขาดการดูแลเอาใจใส่

ยิ่งไปกว่านั้นรูปแบบการพัฒนาที่พระราชทานไว้นี้ เป็นการพัฒนาจากจุดเล็กไปหาจุดใหญ่ เป็นการระเบิดจากข้างใน ในระดับพื้นที่ และขยายผลสู่ระดับชาติต่อไป และไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้ทำอะไรใหญ่โตเกินความจำเป็น ค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญราษฎรจะต้องมีส่วนร่วม และมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

ในวันนั้นเมื่อพระราชภารกิจที่บ้านกูแบซีราเสร็จสิ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ขณะทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯกลับยังศาลาศิลปาชีพบ้านปาตาติมอ ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในเวลา 21.00 น. เพื่อทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะราชองครักษ์พิเศษเพื่อถวายความปลอดภัยแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเสด็จพระราชดำเนินถึงพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ก็เป็นเวลาล่วง 22.00 น.ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๖ เป็นวันที่ราษฎรบ้านกูแบซีราได้ปลาบปลื้มกันอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่นี้อีกครั้ง อันเป็นผลทำให้ราษฎรได้รู้ว่า พระองค์ไม่เคยทิ้งพวกเขาให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ถึงแม้ว่าพระองค์จะมีพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายก็ตาม

นับเป็นบุญของพวกเราชาวไทยทั้งหลาย ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยที่จะทรงขจัดความเดือดร้อนทุกหนทุกแห่งให้หมดสิ้นไป

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

(สำนักงาน กปร.-ข้อมูล)