“กรมศิลป์” ทำพิธีปักหมุดผังก่อสร้างพระเมรุมาศฯ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9


ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” รายงานว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ และบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ และพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ดังนั้น เพื่อให้การก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติยศทุกประการ จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำพิธีปักหมุดทำผังเพื่อการก่อสร้างพระเมรุมาศฯ

ข่าวการศึกษา โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 เวลา 16.19 น. พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้เป็นประธานในพิธีปักหมุดการก่อสร้างพระเมรุมาศฯ โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมพิธี ณ มนฑลพิธีท้องสนามหลวง

พิธีเริ่มต้นขึ้นในเวลา 15.59 น. ประธานจุดธูปเทียนบูชาเครื่องสังเวยที่โต๊ะเครื่องบวงสรวง พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ วิบุลย์เวทย์บรมหงส์ พรหมพงศ์พฤฒาจาริย์ อ่านโองการบวงสรวงฯ ประธานโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เครื่องสังเวย

จากนั้นประธานและผู้ปักหมุดเดินไปประจำหลักหมุดในเวลา 16.19 น. พราหมณ์เป่าสังข์แตรให้สัญญาณเริ่มปักหมุดพระเมรุมาศ โดยใช้ไม้มงคลปักหมุด จำนวน 9 จุด ประกอบด้วย หมุดหลักที่ 1 พล.อ.ธนะศักดิ์ เป็นผู้ปักหมุดหลัก ส่วนหมุดรองอีก 8 จุด ได้แก่ หมุดหลักที่ 2 นายวีระ, หมุดหลักที่ 3 นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง

หมุดหลักที่ 4 นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวัง, หมุดหลักที่ 5 ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง, หมุดหลักที่ 6  นายกฤษศญพงษ์, หมุดหลักที่ 7 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, หมุดหลักที่ 8 ปลัดกรุงเทพมหานคร และหมุดหลักที่ 9 นายเดโช สวนานนท์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร

ทั้งนี้ การปักหมุดเป็นการกำหนดตำแหน่งอ้างอิ้งในการวางผังเพื่อการก่อสร้างให้เป็นไปตามแนวคิดหลักของการออกแบบวางผัง โดยในทางการออกแบบสามารถกำหนดได้หลายวิธีตามความเหมาะสม สำหรับผังในการก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้กำหนดตำแหน่งอ้างอิงโดยการพิจารณาจุดกึ่งกลางของยอดพระเมรุมาศเป็นจุดหลัก

ซึ่งจุดกึ่งกลางดังกล่าว กำหนดจากจุดตัดของแนวแกนสำคัญ 2 แกน ได้แก่ แกนทิศเหนือ-ใต้ หรือแกนในแนวขนานกับความยาวของท้องสนามหลวง ซึ่งสัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางของพระศรีรัตนเจดีย์ ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก หรือแกนในแนวตั้งฉากกับแนวแกนเหนือ-ใต้ สัมพันธ์กับแนวกึ่งกลางพระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

ส่วนหมุดประกอบอีก จำนวน 8 หมุด คือ ตำแหน่งกึ่งกลางยอดบริวารของพระเมรุมาศ ซึ่งได้แก่ ยอดช่าง 4 ยอด และยอดมณฑปน้อย 4 ยอด รวมตำแหน่งหมุดทั้งหมด 9 หมุด

สำหรับพระเมรุมาศและอาคารประกอบ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมศิลปการได้ดำเนินการออกแบบพระเมรุมาศและอาคารประกอบ โดยยึดแนวคิดในการออกแบบและจัดสร้างพระเมรุมาศอย่างสมพระเกียรติ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มีการศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการศึกษาโดยใช้แนวคิดคติไตรภูมิตามคัมภีร์พุทธศาสนา และคติความเชื่อเรื่องพระมหากษัตริย์ในสถานะเสมือนสมมุติเทพตามระบอบเทวนิยม

ข่าวการศึกษา ส่วนงานสถาปัตยกรรม แบ่งอาคารออกเป็น 2 กลุ่ม คือ อาคารในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พระเมรุมาศ มีรูปแบบเป็นทรงบุษบก เครื่องยอดทรงมณฑป มีชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทั้ง 4 ด้าน ฐานยกพื้นสูงมี 3 ชั้น

ชั้นบนที่มุมทั้ง 4 ประกอบด้วย ซุ้มทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ 2 ประกอบด้วย ซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ 9 ยอด

พระที่นั่งทรงธรรม ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ เป็นอาคารชั้นเดียวยกฐานสูง ผังแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงกึ่งกลางสำหรับเป็นที่ประทับและบำเพ็ญพระราชกุศลในการพระราชพิธี ปีกอาคารทั้ง 2 ด้านเป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ

ศาลาลูกขุน เป็นอาคารโถงทรงโรง เป็นที่เฝ้าฯของข้าราชการ ออกแบบให้มี 2 ลักษณะ รวม 6 หลัง (นอกมณฑลพิธีอีก 5 หลัง)

ทับเกษตร เป็นอาคารเครื่องยอดมณฑป 3 ชั้น ตั้งอยู่ที่มุมทั้ง 4 มุม เพื่อแสดงแนวเขตมณฑลพิธี ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการที่มาในพระราชพิธีพักและฟังสวดพระอภิธรรม

ทิม มีจำนวน 10 หลัง สร้างติดรั้วราชวัติทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้าเปิดโล่งหลังคาแบบปะรำ สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพัก และใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมและทำเป็นห้องสุขา

การออกแบบภูมิทัศน์นั้น จะให้พระเมรุมาศเป็นประธานในพื้นที่ เปรียบได้กับเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และจะมีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริต่างๆ รอบมณฑลพิธี

ส่วนอาคารนอกมณฑลพิธี ได้แก่ พลับพลายก มีลักษณะเป็นอาคารโถงใช้สำหรับเป็นที่ทรงประทับรอรับส่งพระบรมศพขึ้นราชรถ มีทั้งหมด 3 หลัง ได้แก่ พลับพลาหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, พลับพลายกหน้ามณฑลพิธีท้องสนามหลวง และพลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” รายงานด้วยว่า หลังจากพิธีปักหมุดทำผังเพื่อการก่อสร้างพระเมรุมาศฯเสร็จสิ้นแล้ว จะมีพิธีบวงสรวงยกเสาพระเมรุมาศ คาดว่าจะมีพิธีในเดือนมีนาคม พ.ศ.2560