ทีมนิสิตจุฬาฯ คว้าแชมป์!ประกวดเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ เวทีอุดมศึกษาระดับนานาชาติ 2016


สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า หน่วยงานภายใต้การกำกับการดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ร่วมแสดงความยินดีกับทีมนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาสที่ไปคว้าแชมป์การประกวดเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ในเวทีอุดมศึกษาระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก

โดยไปคว้ารางวัลชนะเลิศมาจากเวที “ ACM-ICPC Asia Regional Programming Contest 2016” ณ ประเทศเมียนมาร์ เมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ทีมนิสิตจุฬาฯชื่อทีม CPCU Debuggers ที่ไปคว้ารางวัลที่ 1 ที่ประเทศเมียนมาร์ครั้งนี้ ประกอบด้วย นายพีรสิชฌ์ เจริญจิตเสรีวงศ์, นายธนภัทร์ เศรษฐการุณย์ และนายเมธัส เกียรติชัยวัฒน์

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า การฝึกฝนของนิสิต และการมีเวทีระดับนานาชาติเช่นนี้ มีส่วนทำให้เยาวชนไทยสามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง และเดินตามความฝันในเป้าหมายที่แต่ละคนวางไว้ ซึ่งจากการแข่งขันในทุกปีจะสังเกตได้ว่า มีผู้สมัครให้ความสนใจสมัครเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทุกคนมีทักษะมีความสามารถเพิ่มขึ้น ซึ่งเวทีลักษณะนี้ต้องให้ความสำคัญและสนับสนุนเพื่อก้าวไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก World Finals ต่อไป

สำหรับซิป้า ได้ทำการส่งเสริมการแข่งขันเวที “ACM International Collegiate Programming Contest (ACM-ICPC) การเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ซึ่งแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย Local Contest เป็นการแข่งขันระดับประเทศ โดยครั้งแรกได้รับความร่วมมือจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตภูเก็ต

ต่อมาได้รับความสนใจมากขึ้น จึงได้มีการจัดการแข่งขันในระดับภูมิภาค โดยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การแข่งขันกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ

รวมทั้งในปี พ.ศ.2555 ทางซิป้าได้เพิ่มศูนย์การแข่งขันในเขตภาคกลาง เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับด้านนี้เป็นจำนวนมาก โดยทีมที่ผ่านการแข่งขันในระดับภูมิภาค จะมีโอกาสเข้าแข่งขันในระดับประเทศ และระดับโลก World Finals ต่อไป

“อย่างไรก็ดี จุดสำคัญคือระหว่างการเก็บตัวเพื่อไปแข่งขันระดับ Regional Contest  ซึ่งซิป้าให้ความสำคัญในจุดนี้ในการเตรียมความพร้อมเยาวชนที่เป็นตัวแทนมาเข้าโครงการ Boost Up camp เพื่อฝึกฝนและเพิ่มความชำนาญก่อนแข่งขัน” นายฉัตรชัยกล่าว

อนึ่ง เวทีประกวดการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ “ACM-ICPC Asia Regional Programming Contest 2016” นับได้ว่าเป็นเวทีอุดมศึกษาระดับนานาชาติในการแข่งขันเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยทีมผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดจะต้องเขียนโปรแกรมแก้ไขปัญหาโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และอัลกอริทึม ให้ได้ภายในเวลาที่จำกัด ซึ่งทีมที่ชนะจะต้องได้รับการฝึกฝนและอาศัยความชำนาญในการแก้โจทย์ที่ซับซ้อนมากๆ  

สำหรับเวที “ACM – ICPC Asia Regional Programming Contest 2016 ณ ประเทศเมียนมาร์ ครั้งนี้ มีทีมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ 60 ทีมเข้าร่วมแข่งขัน อาทิ Peking University, Shanghai Jiao Tong University, Universitas Indonesia, Osaka University, National University of Singapore, Nanyang Technological University, Yonsei University (South Korea), National Chiao Tung University (Taiwan), FPT University (Vietnam) เป็นต้น