อันเชิญองค์รัชทายาท ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                รัชกาลที่10ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.19 น. วันที่ 29 พ.ย.2559 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวในการประชุม สนช.ครั้งที่ 76/2559 (เป็นพิเศษ) ว่า ตนขอเปิดประชุมเป็นการดำเนินการตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่า ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่นร.0503/44549 ลงวันที่ 29 พ.ย.2559 แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้วตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467

นายพรเพชร กล่าวว่า บัดนี้ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 แล้ว ครม.จึงขอแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช.ซึ่งทำหน้าที่รัฐสภาได้รับทราบการแจ้งมติ ครม.แล้ว ในขั้นตอนต่อไปจะได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยสืบไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23

“ในโอกาสอันเป็นมหามงคล ผมขอให้สมาชิกทุกท่านโปรดยืนขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลใหม่ พร้อมใจเปล่งเสียงขอพระองค์ทรงพระเจริญ" จากนั้นประธานที่ประชุมได้สั่งปิดประชุมในเวลา 11.25 น.

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า การประชุมร่วม ครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วาระพิเศษ คือขั้นตอนการอัญเชิญรัชทายาทเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์ ตามรัฐธรรมนูญ ราชประเพณี และกฎมณเฑียรบาล ถูกต้องทุกประการ ซึ่งได้กำหนดไว้แล้วมา 25 ปี ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ดำเนินการ เนื่องจากพระราชบัลลังก์ว่างลง จึงต้องสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ตามที่ได้มีการแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 23 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

"โดยวันนี้ ครม.รับทราบการเริ่มต้นกระบวนการดังกล่าว เพื่อแจ้งไปยังประธาน สนช.ตามหลักการ ซึ่งเมื่อสภานิติบัญญัติทราบแล้ว ก็จะอัญเชิญรัชทายาทขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ต่อไปภายในเร็วๆ นี้ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเข้าเฝ้าและกราบบังคมเชิญทรงเป็นพระมหากษัตริย์"

อนึ่ง ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 มาตรา 4(1) บัญญัติ “พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์ พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสมมติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป และมาตรา 4(2) บัญญัติว่า “สมเด็จพระยุพราช” คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษกหรือโดยพิธีอย่างอื่นสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งในวันที่ 28 ธันวาคม 2515 นั้น เป็นตำแหน่งเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกของไทย เมื่อ พ.ศ.2429 และสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่สอง เมื่อ พ.ศ.2437

ซึ่งต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงรับราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร จึงเป็นตำแหน่งพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลดังกล่าว และตามที่รัฐธรรมนูญระบุถึง ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามประวัติศาสตร์ ข้อกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา และโบราณราชนิติประเพณีแล้ว โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญบรรดาที่มีมาทุกฉบับนับแต่ พ.ศ.2534

จนกระทั่งถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ เห็นได้ว่าล้วนแต่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ไว้เป็นแบบแผนเดียวกัน ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงแจ้งมายังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อทราบว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระรัชทายาทที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งไว้แล้ว ตามความในมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และทรงสถิตอยู่ในที่พระรัชทายาทสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ด้าน ผู้สื่อข่าวรายงานความรู้สึกของเหล่าพสกนิกรที่บริเวณท้องสนามหลวง หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนที่สุดเพื่อแจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 บัดนี้ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467 และในขั้นตอนต่อไปจะได้นำความกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประชาชนชาวไทยสืบไปว่า ประชาชนต่างรู้สึกปลื้มปิติเมื่อทราบข่าวการสืบราชสันตติวงศ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฏคม พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดมา นับตั้งแต่พระราชสมภพตราบจนปัจจุบัน

เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ปวงชนชาวไทยต่างมีความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธยตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า

“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณ-สวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”

รัชกาลที่10 ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถวายสัตย์ปฎิญาณในการพิธี
ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจของพสกนิกรอย่างยิ่ง ดังความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฎิญาณสาบานต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร ท่ามกลางสันนิบาตรนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญา ความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่

บัดนี้กาลเวลาผ่านไป ได้เป็นที่ประจักษ์ว่า ตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์ตราบจนปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงยึดมั่นในพระปฎิญญา ทรงพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยมิได้ย่อท้อ

ดังปรากฏว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปในการเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศตลอดมา จึงทรงสามารถสั่งสมพระประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านเมืองและราษฎร ทรงปฏิบัติพระภารกิจได้เป็นผลสำเร็จลุล่วง นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น เมื่อพระชนมายุ ๑๑ พรรษา ได้ทรงนำกองลูกเสือสำรอง โรงเรียนจิตลดา เข้าร่วมพิธีสวนสนามลูกเสือไทย ณ สนามกีฬาแห่งชาติ

ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สยามมกุฎราชกุมาร” ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเป็นอเนกอนันต์ อันเป็นคุณูปการแก่พสกนิกรชาวไทยในด้านต่างๆ มากมาย

รัชกาลที่10ด้านการทหาร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน กล่าวคือ ระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๒-มกราคม พ.ศ.๒๕๒๓ ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอช-๑ เอช และหลักสูตรการฝึกบิน เฮลิคอปเตอร์โจมตี แบบ เอ เอช-๑ เอส คอบรา ของบริษัท เบบล์ นอกจากนั้น ยังทรงเข้าศึกษาหลักสูตรต่างๆ ทางด้านการบินอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระองค์ท่านมีพระประสบการณ์ และทรงเชี่ยวชาญการบินในระดับสูงมาก

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอด นับแต่เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕หน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๓ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษา๑๘ ทรงเข้าเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ทรงดำรงตำแพระองค์ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๗ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๑ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด

และเนื่องด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาชาญในวิทยาการด้านการบิน ทรงรอบรู้เทคนิคสมัยใหม่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เคยทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และทรงชนะเลิศการแข่งขัน เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ 

พระองค์ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องสูงมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่ยากสำหรับนักบินทั่วโลกจะทำได้ พระองค์ทรงพระกรุณาปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ-๕ อี/เอฟ ตั้งแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของกองทัพไทย และปวงชนชาวไทย

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดำรงพระยศทางทหารของ ๓ เหล่าทัพ คือ พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก และได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการทหาร โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือ และภาคตระวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด ด้วย ซึ่งแม้เป็นพระราชภารกิจที่ต้องทรงเสี่ยงภยันตราย แต่ด้วยความที่ทรงเป็นชายชาติทหาร และเป็นพระราชภารกิจเพื่อความผาสุกของพสกนิกร และเพื่อมนุษยธรรมต่อผู้ประสบทุกข์ยาก จึงทรงปฏิบัติพระราชภารกิจดังกล่าวโดยเต็มพระราชกำลัง   รัชกาลที่10

ด้านการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนไทยควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีและทั่วถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ และต่อมาทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๕๓ โดยมีวัตถุประสงค์เสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่เรียนดี ทว่าขาดแคลนทุนทรัพย์
เป็นทุนพระราชทานตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นนักบินที่ ๑ เที่ยวบินมหากุศล เส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช นำคณะพุทธศาสนิกชนเดินทางไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช นำเงินรายได้จากการจำหน่ายบัตร 100 ที่นั่ง โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ร่วมสมทบทุนมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ด้านการศาสนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงฝักใฝ่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดเสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช และทรงเยี่ยมนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ เพื่อทรงสนทนาพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ทรงมีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๑

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังเสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่างๆ

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้สร้าง “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช” เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร และยังทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทุกแห่งเอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชมีทั้งสิ้น ๒๑ แห่ง ทรงพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลสม่ำเสมอ พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย เพื่อสามารถให้บริการที่ดีแก่ประชาชน

รัชกาลที่10ด้านการเกษตร นอกจากเสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธี
พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชทานขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรไทยเป็นประจำทุกปีแล้ว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขอพระราชานุญาตจัดทำโครงการ “คลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ทูลถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับโครงการดังกล่าวไว้ในพระราชานุเคราะห์ และพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายสัญลักษณ์โครงการ โดยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯไปทรงเปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ณ หมู่ที่ ๕ ต.บ้านหลวง อ.ดอนพุด จ.สระบุรี

รัชกาลที่10การจัดตั้งคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ สามารถทำให้การบริหารการจัดการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรบรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถให้บริการตรงตามความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ การดำเนินงานคลินิกเกษตรเป็นการบูรณาการวิชาการแต่ละสาขา ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง พัฒนา ที่ดิน กฎหมาย การบัญชี สหกรณ์ ฯลฯ โดยใช้การเคลื่อนที่เข้าไปหาเกษตรกร สร้างแรงดึงดูดใจและกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นตัว ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา 

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายแห่งสากลโลก ประสิทธิ์ประสาทพรถวายชัยมงคลแด่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระเกษมสำราญ 
มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน เป็นร่มโพธิ์แก่พสกนิกรชาวไทยตลอดกาลนานเทอญ