“ก.แรงงาน” จับมือ! สภาอุตฯท่องเที่ยว ปั้น น.ศ.ราชภัฏรับกลุ่มรายได้ดี-เชิงสุขภาพ


นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อยู่ในกลุ่ม s curve หรือกลุ่มแรกที่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) นั้น

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน สอดรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และกลุ่มที่ยังต้องใช้ทักษะที่พึ่งพากำลังแรงงานจากมนุษย์ กพร.จึงบูรณการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ในการพัฒนากำลังแรงงานป้อนสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว

สำหรับการบูรณาการมีแนวทางความร่วมมือ อาทิ การสำรวจความต้องการของตลาดแรงงาน และจัดฝึกอบรมในสาขาที่ขาดแคลน เช่น สาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า สาขาพนักงานดูแลห้องพัก พนักงานให้บริการด้านสปา พนักงานนวดแผนไทย

นอกเหนือจาการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านแล้ว ต้องพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย เช่น การฝึกอบรมด้านภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ในเนื้อหาหลักสูตรอาจสอดแทรกหัวข้อการนำ Application ช่วยในการแปลภาษา จะทำให้ผู้อบรมเรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสื่อสารได้สะดวกมากขึ้นด้วย

นายธีรพลกล่าวต่อว่า จากการหารือกับสภาอุตฯท่องเที่ยว ต้องการจะเน้นฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 3 และ 4 ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันนักศึกษากลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญอยู่แล้ว แต่เราต้องสร้างกำลังแรงงานที่จะรองรับอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเตรียมพร้อมยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดความเจริญเติบโต 

ทั้งนี้ ในการฝึกอบรมจะเป็นแบบสหศึกษา โดยจะมีฝึกอบรมในลักษณะการทำงานจริงในสถานประกอบกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เทคโนโลยีชั้นสูง ที่เน้นด้านการท่องเที่ยวที่ กพร.ได้จัดตั้งเป็นสถาบันนำร่องด้านนี้จำนวน 2 แห่ง ที่จังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีแนวโน้มการขยายตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผู้ประกอบอาชีพด้านนี้จะมีรายได้สูงขึ้น อาทิ สาขา นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก (โภชนาบำบัด) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานระดับ 2 สูงถึง 815 บาทต่อวัน 

“ดังนั้น จึงถือได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาที่จะร่วมมือกัน เตรียมพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งแรงงานเดิมและแรงงานใหม่ ปลูกฝังให้รักและเห็นความสำคัญในวิถีไทย วิถีถิ่นและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ตลอดจนรักษาอาชีพด้านการท่องเที่ยวนี้ไว้ เพราะนี้คืออาชีพที่เครื่องจักรกลทำไม่ได้” นายธีรพลกล่าว