สกว.นำทีม!ลงพื้นที่ชุมชน สร้างแรงบันดาลใจนักวิจัยรุ่นใหม่ สืบสานพระราชปณิธาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนา และ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาเชิงปฏิบัติการ TSDF-TRF Sustainability Forum ครั้งที่ 2 ปี 2559 ภายใต้หัวข้อ “พื้นที่ชนบทไทย : โอกาสและความท้าทายของนักวิจัยรุ่นใหม่” ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินอล 21 กรุงเทพฯ และโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม เมื่อเร็วๆ นี้

เพื่อเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ได้มองเห็นความสำคัญของการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยลงพื้นที่ชุมชนคลองโยน-ลานตากฟ้า จ.นครปฐม ผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ ลงพื้นที่ทดลองนำเครื่องมือทำวิจัยปัญหาชุมชนและแลกเปลี่ยนความรู้หรือประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการเชื่อมโยงความรู้สู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายในงานมีการเปิดวิดีทัศน์การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นักวิจัย : บทบาทและความท้าทายต่อการพัฒนาชนบทไทยให้เกิดความยั่งยืน” โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และที่ปรึกษามูลนิธิมั่นพัฒนา 

มีใจความสำคัญว่า การทำวิจัยในชุมชน คือการหาทางให้คนในชุมชนเป็น “นักวิจัยในพื้นที่” เพื่อแก้ปัญหาชุมชนของตนได้อย่างแท้จริง และตรงกับความต้องการคนในชุมชน คือผู้ที่เข้าใจและรู้ถึงปัญหาในพื้นที่อย่างลึกซึ้งถึงความเป็นธรรมชาติ ถ้าได้ยึดหลักการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นลำดับ เริ่มต้นจากจุดเล็กไปจุดใหญ่ ท้ายที่สุดจะเกิดปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นความสำเร็จจากงานวิจัยของตัวเองที่ส่งผลต่อชุมชนได้อย่างยั่งยืนแท้จริง 

ปัจจุบันการพัฒนาเชิงพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางพื้นที่มีการผสมรูปแบบเมืองและชนบทอย่างกลมกลืน ดังนั้น “นักวิจัยนอกพื้นที่” จึงควรเปิดใจให้กว้าง ศึกษาบริบทธรรมชาติ วิถีชีวิต ตลอดจนความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน เพื่อบูรณาการเป็นการวิจัยแบบสหสาขาวิชา หนุนเสริมให้คนในชุมชนและพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด

“ท้ายที่สุดผลงานวิจัยนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวนักวิจัยเอง ต่อชุมชนที่มีส่วนร่วมในการทำวิจัยและต่อสังคมโดยรวม”

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า การวิจัยพื้นที่ชนบทไทยเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งประเทศไทยมีตัวอย่างที่ดีคือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นนักวิจัยต้นแบบของการพัฒนา วิจัย บูรณาการศาสตร์สาขาต่างๆ ดังจะเห็นได้จากโครงการตามพระราชดำริทั่วประเทศ จึงทำให้เห็นว่าการขับเคลื่อนพัฒนาชนบทนั้น เป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย

ขณะที่นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ เลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า ในปีนี้ มูลนิธิมั่นพัฒนามีสิ่งที่อยากให้ความสำคัญนอกเหนือจากการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ การสืบสานพระราชปณิธาน จากคุณงามความดีของพระองค์ น้อมนำหลัก "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และนำความรู้ ประสบการณ์มาใช้ประโยชน์ เพื่อสังคมไทยเกิดการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน สามารถลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ในวันที่สองของการจัดงาน นักวิจัยรุ่นใหม่กว่า 50 คน ร่วมลงพื้นที่ชุมชน “คลองโยง-ลานตากฟ้า” ตามเส้นทางท่องเที่ยวนิเวศน์เชิงชุมชน อ.พุทธมณฑล และ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวบ้านในประเด็น “วิถีชุมชนและการปรับตัว” กับกลุ่มเกษตรกร เกษตรกรอินทรีย์ แรงงานรับจ้างภาคเกษตร แรงงานรับจ้างทั่วไป และผู้ประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการสรุปบทเรียนการศึกษาภาคสนามและฝึกพัฒนาโจทย์วิจัยพื้นที่

สำหรับวันสุดท้ายของการจัดงาน กลุ่มนักวิจัยร่วมนำเสนอโจทย์วิจัย โดยนำข้อมูล จากการลงพื้นที่ จากบริบทชุมชนในมิติต่างๆ นำมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือวิจัย กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันมากำหนดกรอบแนวทางการวิจัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายประสบการณ์ ร่วมสะท้อนแนวคิด ตั้งคำถาม พัฒนาเป้าหมายต่อประโยชน์ของการวิจัย ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

เพื่อให้สามารถเข้าถึง เข้าใจความต้องการของพื้นที่ชุมชน บูรณาการศาสตร์ หนุนให้เกิดกระบวนการสร้างการการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

พร้อมกันนี้ ยังมีการร่วมพูดคุยในเวทีเสวนา : แนวทางการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพื้นที่ชนบทไทย โดยวิทยากรจาก สกว. และมูลนิธิมั่นพัฒนา เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยผู้เข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ ได้ทำความเข้าใจถึงแนวทาง หลักการในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพื้นที่ชนบทไทยมากขึ้น