“ก.แรงงาน” จับมือ! คีนัน-เชฟรอน ตั้งศูนย์พัฒนาทักษะอาชีพบุคลากรการศึกษา


นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากร โดยเน้นการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อร่วมกันดำเนินงานตามวิถี “ประชารัฐ” ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการบริการรองรับการพัฒนาศักยภาพแรงงานด้วย

กพร.จึงร่วมมือกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย และบริษัท เซฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาในสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยนำองค์ความรู้เกี่ยวกับ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน สำหรับการศึกษาในโรงเรียนขยายโอกาส หรือการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา โดยมีองค์กรภาครัฐหลายองค์กรร่วมถึงกรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย

นายธีรพล กล่าวต่อว่า สถาบันคีนันฯได้ร่วมกับบริษัท เซฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด พัฒนาโครงการ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จึงได้จัดทำแผนการพัฒนากำลังคนในส่วนของการผลิตช่างเทคนิคที่ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตามโมเดลศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมหลัก 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงาน ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และการเกษตร

โดยมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ กพร. ในการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ที่ผ่านมาได้ฝึกอบรมให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดแล็กไปแล้ว 20 คน ในหลักสูตรการเขียนแบบเครื่องกล 2 มิติ ด้วยโปรแกรม AutoCAD

นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนการฝึกอบรมสาขาวิชาออโตเมชั่นและเมคคาทรอนิกส์ชั้นสูง และกลุ่มวิชางานเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อพัฒนาศักยภาพและพัฒนาบุคลากรที่เป็นครูต้นแบบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ได้รับความรู้ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ มีทักษะช่างเทคนิคชั้นสูง สามารถนำไปถ่ายทอดแก่บุคคลากรฝึกของกรมด้วย

สำหรับในปี 2560 มีแผนการพัฒนากำลังคนในเขตจังหวัดชลบุรีและเชียงใหม่ ซึ่งได้ยกระดับให้ 2 จังหวัดนี้เป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว โดยมีเป้าหมาย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ พัฒนาครูต้นแบบ นักเรียนอาชีวะ และกลุ่มวัยแรงงานทั่วไป โดยมีหน่วยงานที่จะได้รับประโยชน์กว่า 60 แห่ง

“พร้อมวางแผนการพัฒนากำลังคนระยะ 5 ปีไว้ด้วย เพื่อผลักดันให้โครงการมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จพร้อมสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป” อธิบดี กพร.กล่าว