ติงมติ ทปอ.เปิดเคลียริ่งเฮาส์ 2 รอบ "ประเสริฐ" ชี้กระทบมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง เผยกลุ่ม มทร.ขอสอบตรงร่วมกันเอง

จากกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้มีการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาโดยใช้ข้อสอบกลาง แบบวัดความถนัดทั่วไปหรือ GAT แบบวัดความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และเปิดให้มีการเคลียริ่งเฮ้าส์ 2 ครั้ง และหากมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตามจำนวนที่ต้องการ จึงให้รับตรงเพื่อคัดเลือกเด็กได้เอง แต่ต้องไม่มีการจัดสอบใหม่ โดยจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2561 นั้น

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า เท่าที่ได้ติดตามเรื่องดังกล่าว ตนเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะการสอบตรงมหาวิทยาลัยจะสามารถดำเนินการได้เองทุกขั้นตอน สามารถคัดเลือกนักศึกษาตามคุณสมบัติและตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้ หากไม่ให้มีการจัดสอบตรงในมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง อาจไม่ได้นักศึกษาที่ตรงความต้องการ แม้จะมีข้อเสนอให้ร่วมออกข้อสอบ PAT

แต่ในขั้นตอนการดำเนินการ มหาวิทยาลัยเก่าจะมีการคัดรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานของตนเอง หากต่ำกว่าที่กำหนดจะไม่ได้รับการตัดเลือก เท่ากับเป็นการคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดีออกไปก่อนแล้ว และนักเรียนที่ไม่ผ่านการคัดเลือกจากระบบเคลียริ่งก็จะมาอยู่ในระบบรับตรง และจะมาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง

“โดยในความเป็นจริงมหาวิทยาลัยเฉพาะทางก็ต้องการนักเรียนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนากำลังคนและสร้างมาตรฐานให้กับประเทศเช่นกัน”

อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ตนอยากเสนอแนะให้การยื่นรับตรงหลังการเคลียริ่งเฮ้าส์ 2 รอบ เป็นการสอบตรงแทน โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง หรืออาจเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเฉพาะทาง จัดการสอบพร้อมกับมหาวิทยาลัยในสายวิชาการ เพราะมหาวิทยาลัยทั้งสองแบบ มีเกณฑ์การรับนักศึกษาที่ไม่เหมือนกัน แต่หากเป็นการสอบรวมกันเข้าใจว่า เด็กบางคนยังยึดติดในชื่อของมหาวิทยาลัย เมื่อมีโอกาสเขาก็ต้องเลือกในมหาวิทยาลัยดั่งเดิมก่อน

แต่หากจัดให้มีการสอบแบบที่ตนเสนอ เด็กก็จะได้ตัดสินใจเลยว่าจะเลือกเรียนในสายปฏิบัติ หรือสายวิชาการ และเป็นการแก้ปัญหานักเรียนวิ่งรอกสอบ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่ามติ ทปอ.ดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาให้กับมหาวิทยาลัยในกลุ่ม ทปอ.เอง แต่ไม่ใช่การสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง ซึ่งในต่างประเทศการพัฒนาการศึกษาจะมีการพัฒนาควบคู่กันไปทั้งสายวิชาการและสายอาชีพ