“เอ็นคอนเส็ปท์” จัดงานธิงค์บียอน! ติวเข้มพ่อ-แม่ รับมือการศึกษายุค 4.0


โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ จัดงานธิงค์บียอน 4.0 (Think Beyond 4.0) ชวนผู้ปกครองมาร่วมคิดข้ามช็อต เตรียมความพร้อมรับมือไทยแลนด์ 4.0 รวมพลกูรูร่วมไขอนาคตการศึกษาไทย นำโดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการด้านการศึกษาและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เอ็ดดูโซนดอทคอม และนายธานินทร์ เอื้ออภิธร ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์

ทั้งนี้ นายธานินทร์ เปิดเผยว่า งานธิงค์บียอน (Think Beyond) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางการศึกษาที่เอ็นคอนเส็ปท์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียนและผู้ปกครองในทุกครั้ง โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ เรามองว่าความสำเร็จในทุกๆ ด้านของเด็กมีพื้นฐานที่สำคัญจากครอบครัว ดังนั้น หากคุณพ่อ คุณแม่ เลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ และมีความรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปมากพอ ก็จะช่วยผลักดันให้ลูกมีความสุขและประสบความสำเร็จ

ซึ่งปัจจัยหลักที่จะพาเด็กไทยสู่ความสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มจากเก่ง คือเก่งที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง รู้จักสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด กล้า คือกล้ารับผิดชอบมากกว่าหน้าที่ของตนเอง ทั้งต่อสังคมและประเทศชาติ แกร่ง คือแกร่งรับผิดชอบต่อความฝัน และมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จแม้ว่าจะมีความยากลำบากก็ตาม หากเด็กไทยเพิ่มคุณลักษณะทั้ง 3 ประการ ก็จะโอกาสในการประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ ปัจจัยหลักที่จะพาเด็กไทยไปสู่ความสำเร็จระดับโลกได้นั้น ต้องเริ่มจากกล้า คือกล้าที่จะวางแผนการศึกษาโดยมองไปไกลถึงระดับโลก และการพิชิตทุนการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ เพราะการตั้งเป้าหมายนั้นเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ, ก่อนการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสร้างความได้เปรียบทั้งในการเรียนและการแข่งขัน, แกร่ง คือการเปลี่ยนแรงกดดันให้เป็นความท้าทาย เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเรียนรู้ และอดทนฝึกฝนจนเกิดผลสำเร็จ

และสุดท้าย ก้าว คือการลงมือทำจริง ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเชี่ยวชาญ  ซึ่งทั้ง กล้า ก่อน แกร่ง และก้าวนั้น หากเด็กไทยเพิ่มคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นก็จะเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า 16 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญในการแข่งขันบนเวทีโลกของเด็กไทยที่ต้องเร่งพัฒนา คือทักษะภาษาอังกฤษเป็นอันดับแรก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าภาษาอังกฤษช่วยสร้างโอกาสในชีวิตที่ดีตามมาด้วยเช่นกัน

งานในครั้งนี้ ใช้ชื่อว่า ธิงค์บียอน 4.0 (Think Beyond 4.0) และนำเสนอเนื้อหาที่ช่วยให้ผู้ปกครองวางแผนรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปและโมเดลเศรษฐกิจของสังคมยุคใหม่อย่าง “ไทยแลนด์ 4.0 ” อาทิ เจาะลึก School 4.0 แบบอินไซด์, ทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21, เทรนด์การศึกษา Education 4.0 ที่พ่อแม่ต้องรู้, เทรนด์อาชีพ Employment 4.0 ที่น่าจับตามองในโลกยุคใหม่พร้อมเทคนิคการเรียนภาษาอังกฤษ English 4.0 Workshop MAX PLANNER สุดยอดความลับสู่ความสำเร็จ และ Workshop วัดระดับภาษากับ Cambridge  เป็นต้น  

“การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 แล้ว และยังได้รับการตอบรับอย่างดีเช่นเดิม โดยมีผู้ปกครองและนักเรียนลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าแล้วกว่า 500 คน” นายธานินทร์กล่าว

ด้าน นพ.ธีระเกียรติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดเวทีเสวนาในครั้งนี้ด้วยหัวข้อ “School 4.0” โดยเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับพื้นฐานของการศึกษาก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาให้เป็น 4.0 ต่อไป ทั้งยังชี้แจงถึงประเด็นของ “Entrance 4.0” ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในสังคมว่า ไม่อยากให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนเกิดความตระหนักจนเกินไป

เนื่องจากในปัจจุบันการปรับเปลี่ยนระบบการสอบคัดเลือกของระดับอุดมศึกษายังอยู่ในระหว่างการหารือ และยังไม่มีการสรุปออกมาอย่างชัดเจนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องคำนึงถึงเด็กและให้ความยุติธรรมแก่เด็กเป็นสำคัญที่สุด

ด้าน รศ.ดร.อนุชาติ คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง “Education 4.0” ว่า โลกปัจจุบันมีการไหวตัวอย่างรุนแรง และจะส่งผลอย่างมหาศาล ดังนั้น วิธีการเรียนรู้ต่างๆ ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งเราต่างต้องตั้งรับและอยู่ร่วมกันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ โดยสำหรับยุค 4.0 นี้ สถาบันการศึกษาจะไม่ใช่ศูนย์กลางของความรู้อีกต่อไป เพราะความรู้ในยุค 4.0 นี้มีอยู่อย่างมากมาย มีอยู่ในทุกที่ แม้กระทั่งในสมาร์ทโฟน

ซึ่งแปลว่าแพลทฟอร์มของการเรียนรู้ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างมหาศาล ดังนั้น ทั้งผู้ปกครอง เด็ก และทุกคนจะต้องเปลี่ยนวิธีการในการเรียนรู้ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะกับผู้ปกครองที่ต้องเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถาม และเลิกถามว่าลูกอยากเป็น “นัก” อะไร เพราะเด็กๆ ในปัจจุบันอาจจะไม่อยากเป็นแพทย์ เป็นวิศวกร แต่อาจอยากเป็นอะไรที่เล็กๆ แต่มีคุณค่าก็ได้

สอดคล้องกับ ดร.วิริยะ นักวิชาการด้านการศึกษาและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์เอ็ดดูโซนดอทคอม ที่ให้มุมมองเรื่อง “Employment 4.0” ว่า ทรัพยากรบุคคลที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน จะไม่ได้มีแค่วุฒิการศึกษาอีกต่อไป แต่ปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานคือ “คุณค่า” ในตัวของแต่ละคน เพราะหากการมีความรู้แต่ไม่ถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ความรู้นั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าอะไรกับผู้เรียน

“สองทักษะสำคัญที่ทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันต้องมี คือ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และ ทักษะทางภาษาอังกฤษ เพราะจะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญในการผลักดันให้องค์กรมีความก้าวหน้า และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับองค์กรได้อย่างยอดเยี่ยม” ดร.วิริยะกล่าว