หนังสือบันเทิงชีวิตครูฯ! คู่มือครูศตวรรษที่ 21


มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขอแนะนำหนังสือใหม่ถอดด้าม “บันเทิงชีวิตครู สู่ชุมชนการเรียนรู้” เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นการรวบรวมบทบันทึก (BLOG) ของท่านที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ http://www.gotoknow.org ซึ่งได้ตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความเด่นจากนิตยสาร Scientific American Mind  

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวถึงความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ที่มีคุณค่าต่อวงการศึกษาไทยว่า เป้าหมายของการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 คือการสร้างความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขึ้นในคนทุกคน ย้ำคำว่า “ทุกคน” ซึ่งหมายความว่า ครูทุกคนต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย หนังสือเล่มนี้คือคู่มือครูในการทำหน้าที่ดังกล่าว  การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นผู้นำ เรียกว่า Transformative Learning โดยเป้าหมายคือทุกคนมีทักษะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่เรียกว่า Change Agent   

ครูจึงต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเรียนรู้ เปลี่ยนจากการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 19 และ 20 ไปสู่การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 หนังสือบันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้เล่มนี้คือ ตัวช่วยให้ครูทำหน้าที่ดังกล่าวได้สำเร็จ โดยที่เป็นการทำหน้าที่อย่างบันเทิงใจ คือมีความสนุกสนาน มีความสุขใจ เพราะได้บรรลุปิติสุขเป็นระยะๆ

ในศตวรรษที่ 21 ครูต้องเปลี่ยนจากเน้นความเป็น “ผู้สอน” เป็นเน้นความเป็น “ผู้เรียนรู้” โรงเรียนไม่ใช่ที่เรียนรู้เฉพาะของนักเรียนอีกต่อไป แต่เป็นที่เรียนรู้ของครูด้วย และในความหมายที่กว้าง ยังเป็นที่เรียนของพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน ของคณะกรรมการโรงเรียน และของผู้นำชุมชน และของคนในชุมชนด้วย   

PLC เป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนชีวิตครู เปลี่ยนจาก “ผู้สอน” (Teacher) เป็น “นักเรียน” (Learner) เปลี่ยนจากโดดเดี่ยว เป็นมีเพื่อนมีกลุ่ม รวมตัวกันเป็นชุมชน  ทำงานแบบปรึกษาหารือและช่วยเหลือกัน โดยมีเป้าหมายที่เด็ดเดี่ยวชัดเจนคือผลการเรียน 21st Century Skills ของศิษย์ทุกคน มีการจัดการเรียนเสริมแก่ศิษย์ที่เรียนไม่ทัน ให้กลับมาเรียนทัน โรงเรียนเปลี่ยนสภาพเป็น PLC เขตพื้นที่การศึกษาเปลี่ยนเป็น PLC ซึ่งแปลว่าเป็น Learning Organization นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นในระดับ Transformation คือเปลี่ยนอย่างถึงรากถึงโคน เปลี่ยนระดับจิตวิญญาณและวัฒนธรรม โดยสรุปโรงเรียนจะเปลี่ยนไปเป็น Happy Workplace และ Learning Organization ซึ่งหมายความว่า PLC จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก่นักเรียน ครู ผู้บริหาร และโรงเรียนอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง

“PLC จึงเป็นเครื่องมือเพื่อการบันเทิงชีวิตครู ชีวิตของครูเพื่อศิษย์ เป็นชีวิตที่บันเทิงรื่นเริงใจ และให้ความสุขทางใจอย่างหางานอื่นเปรียบได้ยาก แม้ในบางช่วงจะมีคลื่นลมบ้างก็ตาม” ศ.นพ.วิจารณ์กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คุณนาถชิดา อินทร์สอาด โทร.0-2937-9901-7, 093-426-9636