พุทธไนย ตันมณี ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรกรรม กับการเดินตามยอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

ประโยชน์สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร สิทธาคม


ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีช่วงเดือนกันยายน 2559 แน่นอนที่สุดต้องเจอฝนแน่นอน โดยเฉพาะช่วงที่ไปเยือนจันท์ราวๆ กลางเดือนที่กรมอุตุฯพยากรณ์ไว้ว่า จะเกิดฝนในพื้นที่ราวเกือบ 80% แล้วก็ไม่พลาดเจอฝนทั้งตอนเดินทางไป-กลับ และตอนพักอยู่ที่จันทบุรีก็เจอฝน

นั่นคือไปร่วมประชุมโครงการสร้างและขยายผลองค์ความรู้ความเข้าใจในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่ข้าราชการ ครูอาจารย์ นักเรียน ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้าน ครูภูมิปัญญาไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี ช่วงวันที่ 12-13 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มพัฒนานโยบายด้านการเพิ่มโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย ผอ.สมรัชนีกร อ่องเอิบ

มีโอกาสได้เดินชมสภาพพื้นที่ป่าโครงการสวนพฤกษศาสตร์ตามแนวพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯของมหาวิทยาลัย และที่สวนผลไม้ของครูภูมิปัญญาไทยรุ่น 6 ของ สกศ. นายพุทธไนย ตันมณี ก็จะขอพูดถึงป่าไม้ในบ้านครูพุทธไนย ป่าที่เรียกว่า สวนพาราพิทักษ์ แม้จะไม่ได้สมัครเข้าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ แต่วิถีปฏิบัติที่ครูพุทธไนยสร้างสรรค์ ปลุกปั้นปลูกฝังสวนพาราพิทักษ์ เป็นวิถีที่เดินตามรอยพระบาทแนวพระราชดำริอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอย่างสมบูรณ์แบบ

มิใช่เพียงเท่านั้น แต่หลักการสร้างสวนสร้างป่าในพื้นที่ราวๆ 210 ไร่ กล่าวได้ว่านี่คือการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในบ้านตัวเอง เป็นมรดกของตัวเอง ของครอบครัว เป็นที่รวมแห่งความสมบูรณ์ของปัจจัย 4 ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิต ที่แผ่ผลบุญไปถึงส่วนรวม คือจังหวัดและคนไทยอีกมากมายที่มีโอกาสแวะเวียนไปเยือน ได้ซึมซับความสุขสดชื่นแม้เพียงชั่วครู่ชั่วยามก็เถอะ ก็ถือได้ว่าร่วมได้รับอานิสงค์ไปด้วย

สกู๊ป แวดวงการศึกษา ผืนป่าเล็กๆ ที่รวมกันอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า สวนพาราพิทักษ์ มีทั้งไม้ผลอย่างเช่นมังคุด ลองกอง หว้า มะพลับไทย ทุเรียน ไม้ที่เป็นสมุนไพรอย่างเช่นสมอพิเพก สมอไทย มะขามป้อม สำรอง เป็นต้น พืชสมุนไพรก็มีผักโขม กระวาน คำฝอย หญ้านาง เป็นต้น รวมถึงผักที่ใช้บริโภคในครัวเรือนโดยไม่ต้องพึ่งพาตลาดข้างนอก ตรงกันข้ามตลาดต้องแวะเวียนมานำผลผลิตจากสวนพาราพิทักษ์ไปขายยังตลาดต่อไป

ภาพรวมสวนของครูพุทธไนยโดยองค์รวมแล้ว คือที่รวมของปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของคนของมนุษย์ที่ต้องมี ขาดไม่ได้ คือปัจจัย 4 อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และปัจจัยสำคัญทั้ง 4 อย่างนี้รวมกันแล้วก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่รวมของพันธุกรรมพืชนั่นเอง

อยู่ที่บ้านครูพุทธไนย ก็คือสวนพาราพิทักษ์ และโรงงานผลิตน้ำสมุนไพรผลไม้ออแกนิค ภายใต้คำขวัญ “รักชีวิตรักษ์โลก บริโภคอาหารออแกนิค” ผลิตในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตสมุนไพรบ้านเกาะลอย ท่ามกลางท้องฟ้าที่ครึ้มไปด้วยเมฆคลุมไม่มีวี่แววว่า จะมีช่องว่างให้พระอาทิตย์โผล่มาให้แสงแดด ก่อนพาเดินชมสวนครูพุทธไนย สรุปที่มาที่ไปของสวนแห่งนี้พอได้ภาพ ให้ชิมลองกองที่เพิ่งตัดลงจากกิ่งไม่ถึงครึ่งวัน ชิมน้ำลูกหว้าสีแดงเข้มรสออกเปรี้ยว พอใส่น้ำตาลเล็กน้อยช่วยให้เกิดความหวานผสมเข้ามาเป็นหวานอมเปรี้ยว พอสมควร

ครูพาเดินเข้าพื้นที่สวนเริ่มตรงต้นมะพลับ มะพลับที่ว่านี้คือมะพลับไทยที่เวลานี้น่าจะหาดูต้นและผลได้ยากถึงยากมาก (ยกเว้นที่สวนพาราพิทักษ์) จะอธิบายยังไงจึงจะเห็นภาพก็นึกไม่ออก ลูกสีเหลืองสดเวลาสุกเต็มที่สีเกือบเหมือนพลับโครงการหลวงของไทยเรานี่แหละ เวลาสุกแล้วผลกินได้ พลับไทยลูกคล้ายตะโกแต่ผลใหญ่กว่า แต่พลับที่สวนครูพุทธไนยยังไม่สุก

ครูพุทธไนยบอกว่า ผลมะพลับสุกนั้นกินได้ แต่คนมักใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่จากยางผลมะพลับดิบ เป็นยางที่มีคุณภาพดีกว่ายางลูกตะโก แต่เพราะน่าจะหายากกว่าผลผลิตจึงมีน้อย ความต้องการมีมาก มีคนหัวใสเอายางตะโกมาหรอก จึงเป็นที่มาของวลีโบราณที่ว่า “ต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก” นั่นเอง

เดินเข้าสวนไปต้นลองกองที่พวงผลย้อยห้อยล่อตา และเรียกต่อมน้ำย่อย พลอยกระตุ้นให้มือขยับจะเอื้อมเด็ดผลที่สังเกตแล้วว่าน่าจะแก่ ลิ้มรสได้ ครูเหมือนจะเดาอาการผู้ไปเยือนออก บอกดังๆ ว่า “เด็ดชิมได้นะครับ”

มีกระท้อนแซมบ้าง แต่เห็นแต่ต้นและใบ ไม่เห็นผล ไม้สมุนไพรก็สมอพิเพก สมอไทย มะขามป้อม แต่ครูต้องบอกว่าต้นไหนคืออะไร ส่วนใหญ่จะหาคนรู้จักยาก นอกจากครูภูมิปัญญาด้านเกษตรด้วยกัน

ที่พื้นสวนนอกจากหญ้าแล้ว ที่เห็นคือต้นหญ้านางขึ้นแซมหญ้าเต็มไปหมด

สุขทั้งแผ่นดิน “ผมดำเนินวิถีชีวิตกับการสร้างสวนเป็นแนวผสมผสานโดยน้อมนำเอาหลักการตามแนวทฤษฎีใหม่ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือคนเป็นเกษตรกร เป็นชาวสวน ต้องขยันอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ขยันนะไม่ใช่โลภ ทำไม่หยุดแต่ไม่โลภ ต้องอดทนเพราะงานจะหนัก ต้องใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นปัจจัยในการทำอาชีพ แล้วก็ต้องรู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน ไม่หวงความรู้ ทำไปก็ต้องศึกษารากฐานของพืชพันธุ์ พันธุกรรมเพื่อจะได้รู้จักรู้ถิ่น รู้ประโยชน์ รู้ความสัมพันธ์กันระหว่างไม้แต่ละสายพันธุ์กับสภาพแวดล้อมดินฟ้าอากาศ ส่วนหนึ่งผมนึกถึงแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสร้างโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ก็น่าจะทรงมุ่งประโยชน์ด้านการอนุรักษ์และประโยชน์ใช้สอยด้วย” ครูพุทธไนย บอกขณะพาเดินชมสวน

ท่ามกลางบรรยากาศที่เม็ดฝนทำท่าจะย้อยลงมา ถึงจะยังอยากดื่มด่ำกับความร่มรื่นของพันธุ์ไม้หลากชนิดสีสัน แต่ก็เป็นจังหวะเวลาพอสมควรที่จะต้องออกจากสวนและล่ำลาครูพุทธไนย

นายพุทธไนย ตันมณี นอกจากเป็นครูภูมิปัญญาไทยของสำนักงานสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังได้รับการประกาศเป็นเกษตรกรดีเด่น ประจำปี 2557 สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี สาขาการผลิตพืชอินทรีย์ อยู่บ้านเลขที่ 36 ถนนทรัพย์เจริญ ต.แก่งหางแมว อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี การศึกษา ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต คณะศึกษาศาสตร์ สาขาพลศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) พ.ศ.2523

ศึกษาวิชาการแพทย์แผนไทยจากสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546

เป็นเจ้าของสวนพาราพิทักษ์ ปลูกพืชผสมผสาน เนื้อที่กว่า 210 ไร่ ได้แก่ มังคุด ลองกอง กาแฟ สมุนไพร และสวนป่าหลากหลายชนิด ได้น้อมนำหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับเปลี่ยนการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน โดยเห็นว่าเกษตรอินทรีย์เป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ครูพุทธไนยบอกว่า จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปี พ.ศ.2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ได้ฟังได้อ่านพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งพาตนเอง จึงปลูกสมุนไพรที่เป็นอาหาร ยาและด้านการเกษตร เพื่อใช้ดูแลสุขภาพและเพื่อการอนุรักษ์มากขึ้น โดยปลูกเป็นแปลงในพื้นที่ 20 ไร่ และปลูกแซมในสวนรวมประมาณ 200 ชนิด ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ การทำเกษตรธรรมชาติจากหนังสือ เอกสาร แผ่นพับและอินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับการเกษตร

“การปลูกสมุนไพรได้ประโยชน์ทั้งจากการทำอาหารและยาจากสมุนไพร การใช้สมุนไพรกำจัดแมลง และการแปรรูปผลผลิต ฯลฯ จากการทำงานอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจและใส่ใจในการผลิตทั้งผลิตผลและผลิตภัณฑ์แปรรูป”

ครูบอกด้วยว่า นอกจากจะผลิตผลไม้เพื่อจำหน่ายเป็นผลไม้สดแล้ว ยังมีการนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์เพื่อสุขภาพ เป็นการเพิ่มมูลค่า โดยจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตพืชสมุนไพรบ้านเกาะลอย ปี 2548 ซึ่งกระบวนการผลิตได้มีการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตั้งแต่การจัดการผลิตจนถึงการแปรรูป ปัจจุบันได้ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปหลายชนิด ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำมังคุด น้ำมังคุดผสมลองกอง น้ำมังคุดผสมสำรอง น้ำลูกหว้า น้ำมะขามป้อม น้ำสำรองผสมดอกคำฝอย น้ำตรีผลาและสมุนไพรแปรรูป เช่น ผักโขมผง สำรองผง ชากระวาน เป็นต้น

นายพุทธไนย เป็นที่รู้จักของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ GAP กลุ่มผู้สนใจด้านสมุนไพร และกลุ่มผู้รักสุขภาพจำนวนมาก โดยมีคณะบุคคลต่าง ๆ มาขอรับการอบรม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จนได้รับคัดเลือกให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบครบวงจรของจังหวัดจันทบุรี

สำหรับจังหวัดจันทบุรี เป็น 1 ใน 6 จังหวัดนำร่องการดำเนินงานโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้คัดเลือก 6 จังหวัดนำร่องในการดำเนินงาน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ จันทบุรี ราชบุรี และพัทลุง

จังหวัดจันทบุรี ถือเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ ไม่เพียงแต่เฉพาะด้านผลไม้เท่านั้น ยังมีพืชผัก อาหารทะเลอีกมากมาย ที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชาวไทยและส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ดังนั้น การขับเคลื่อนให้จังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองเกษตรสีเขียว ก็เพื่อมุ่งให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำวัสดุหรือสิ่งเหลือใช้ในแปลงมาก่อประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญคือลดการใช้สารเคมีลงเรื่อยๆ จนถึงระดับที่เป็นเกษตรอินทรีย์ได้จะยิ่งดี เพื่อความปลอดภัยต่อเกษตรกร ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย