ปลัดกระทรวงวิทย์ฯคนใหม่ เปิดใจ!หลักการทำงาน เน้นเชื่อมโยง 2 กระทรวง “วท.-ก.ศึกษา”


เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการทำงานว่า ดีใจที่ได้มาทำงานที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นบ้านใหม่ จากเดิมที่เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งคงมีเวลาทำงานอยู่ที่กระทรวงวิทย์ 4 ปี ก่อนเกษียณอายุราชการ

การมารับตำแหน่งใหม่นี้ ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ทั้ง 2 กระทรวง คือ กระทรวงวิทย์ และกระทรวงศึกษาธิการ โดยมอบหมายให้ตนเข้ามาทำงานเพื่อให้งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับกระทรวงวิทย์มากขึ้น จากวันที่ตนมารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 6 วัน ยอมรับว่ากระทรวงวิทย์ฯต้อนรับดีมาก และตนจะนำหลักการทำงานเมื่อครั้งอยู่กระทรวงศึกษาธิการ คือ “ความตั้งใจและจริงใจ” มาช่วยในการทำงานบ้านหลังใหม่แห่งนี้

ถามว่าหนักใจหรือไม่ ตนอยากบอกว่า ไม่มีอะไรที่หนักใจ แต่เดิมตนเป็นคนของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และเป็นหมอด้านผ่าตัด อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ตนตั้งใจจะทำภารกิจของกระทรวงวิทย์ใน 3 ด้านสำคัญ ซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้วในเชิงนโยบายรัฐบาล คือ 1.วิชั่น (Vision) หมายถึง การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ให้มีความสอดคล้องและก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล

2.แอพพลิเคชั่น (Application) คือ จะนำเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของผู้คนหรือประชาชน แทนที่ว่าเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นเพียงทฤษฎี หรือเป็นเพียงงานวิจัยแล้วขึ้นหิ้ง แต่ต้องนำไปใช้ได้จริงในเชิงพานิชย์ให้มากขึ้น และ 3.แอพพลิชิเอท (Appreciate) คือ การประชาสัมพันธ์หรือสื่อสารให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปมีความสนใจเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

ตนจะทำงานแบบบูรณาการโดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐบาลและเพื่อนร่วมงานทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

“สิ่งที่ผมพูดมานี้เพื่อต้องการให้นักเรียน และประชาชน หันมาสนใจและใส่ใจเรื่องของวิทยาศาสตร์ว่า มีประโยชน์และใกล้ตัวมาก เช่น คลิบที่มีนักวิจัยไปศึกษาเรื่องสารพิษที่ปนเปื้อนในผัก ผลไม้ ในตลาดสดกับห้างสรรพสินค้า มีสารปนเปื้อนพอๆ กัน รวมทั้งยังให้แนวคิดหรือวิธีการล้างพวกผักผลไม้เหล่านี้ด้วยว่า ควรล้างด้วยวิธีให้น้ำไหลจากก็อก ไม่ใช่ล้างในอ่างหรือกะละมัง เพราะสารพิษก็ไม่ได้หายไปไหนแม้ว่าจะนำด่างทับทิมมาล้างแล้วก็ตาม อย่างนี้เป็นต้น”

รศ.นพ.สรนิต กล่าวตอนท้ายว่า ปัจจุบันการทำวิจัยนั้นจะขอทุนเพื่อทำอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ถือว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้งบประมาณมากกว่าทุกปี โดยปีนี้ได้งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท สิ่งแรกที่ต้องเน้นคือการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และการสานต่องานของปลัดกระทรวงท่านเดิม เช่น อาเจนด้า (Agenda base ปี 2560) หรือแผนปฏิบัติการต่างๆ ที่วางไว้ 38% จากงบประมาณที่ได้ ซึ่งมี 6 เรื่อง 

“ได้แก่ 1.เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) 2.OTOP &SMEs 3.การพัฒนากำลังคน (STAM) 4.การให้บริการในการทดสอบ สอบเทียบ (MSTQ) 5.Startup และ 6.เรื่องเทคโนโลยีใหม่ (News Technology) เช่น หุ่นยนต์ ดาวเทียม ส่วนงบฯที่เหลือประมาณ 62% คือ ฟังก์ชั่น (Function) งบประจำหรือภารกิจหน่วยงานที่ทำอยู่”