“ราชภัฏสงขลา” สนองดำริประธานองคมนตรี จัดกิจกรรม “เป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้” กระตุ้น!น.ศ. อนุรักษ์วัฒนธรรมถิ่น

มรภ.สงขลา จัดกิจกรรมเป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้ สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น สนองดำริ พล.อ.เปรม โชว์แข่งแกงส้มลีลา หวังปลูกฝังคนรุ่นใหม่สนใจอาหารพื้นเมือง หลังพบไม่นิยมเมนูรสเผ็ดเช่นอดีต

ผศ.จรูญศักดิ์ บุญญาพิทักษ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรม “เป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า วัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่ ไม่หลงลืมรากเหง้าวัฒนธรรมประเพณีด้านอาหารการกิน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวใต้ โดยกิจกรรมดังกล่าวจุดประกายจากดำริของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่ต้องการรณรงค์ให้คนสงขลาแหลงใต้ ไหว้สวย

ดังนั้น ทางคณะมนุษยศาสตร์ฯจึงใช้ภาษาถิ่นใต้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดงาน อาทิ บรรยายให้ความรู้วิถีใต้วิถีไทย การแสดงมโนราห์ การเชิดหนังตะลุงโดยคณบดีและนักศึกษา สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว แข่งขันแกงส้มลีลา โดยตัวแทนนักศึกษาแต่ละโปรแกรมวิชาในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ฯโต้วาทีภาษาใต้ สาธิตวัฒนธรรมอาหารพื้นบ้าน อาทิ น้ำแข็งบอก ขนมโค ขนมสอดไส้ ขนมด้วง ขนมกรวย เต้าคั่ว เป็นต้น

อาหารภาคใต้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ทำใช้ภูมิปัญญาคัดสรรวัตถุดิบและกรรมวิธีการทำ จนได้รสชาติที่จัดจ้านถูกปาก อาหารชาวใต้มักประกอบไปด้วย ข้าวสวย (เจ้า) อาหารคาวและผักเคียง เรียกว่า ผักเหนาะ อาหารคาวหลายอย่าง เช่น ต้ม แกง ผัด นึ่ง ย่าง ยำ หรือตำ ในแต่ละมื้อต้องมีอาหารรสเผ็ดหนึ่งอย่างเสมอ ได้แก่ แกงเผ็ดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแกงส้ม แกงพริก แกงกะทิ และน้ำพริกชนิดต่างๆ

แต่ทุกวันนี้อาหารพื้นเมืองของชาวใต้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีการนำเข้าและรับรูปแบบอาหารจากสังคมภายนอก โดยนำเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ มาผสมให้เกิดอาหารประเภทผัดและทอดมากขึ้น ปรุงรสโดยใช้ผงชูรส และอื่นๆ เข้ามาผสม

อาหารพื้นเมืองที่ชาวใต้รับประทานในปัจจุบัน จึงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก แม้จะดำรงอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่เฉพาะกลุ่มไว้ แต่คนรุ่นใหม่กลับไม่นิยมอาหารพื้นเมืองภาคใต้ หันไปนิยมตามกระแสคนรุ่นใหม่ทั่วไป เช่น ไม่นิยมกินอาหารรสเผ็ดและอาหารพื้นเมืองแท้ๆ เช่น แกงพุงปลา บูดู ข้าวยำ เป็นต้น

“ดังนั้น ทางคณะมนุษยศาสตร์ฯฯจึงจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึก ให้เกิดความรักและหวงแหนในคุณค่าวิถีชีวิตพื้นเมืองแบบชาวใต้” ผศ.จรูญศักดิ์กล่าว             

ด้าน นายสุระนนท์ อ่อนเเก้ว นักศึกษาโปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า ตนและสมาชิกในทีมอีก 2 คน คือ นายศตวรรต นวลเจริญ และ นายจักกฤษ หนูหัน ได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดแกงส้ม ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมนักศึกษาโปรแกรมวิชาสังคมศาสตร์เพื่อมัคคุเทศก์ รองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมโปรแกรมวิชาสวัสดิการสังคม

แกงส้มถือเป็นเมนูอาหารที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวใต้ ซึ่งคณะกรรมการอาจชอบรสชาติแกงส้มของทีมตน จึงตัดสินให้ได้รางวัลชนะเลิศ อย่างไรก็ตาม กิจกรรม “เป็นอยู่อย่างเราชาวปักษ์ใต้” ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้

“โดยในการสืบสานนั้นต้องเริ่มจากตนเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน เเละการดำเนินชีวิต ควรอนุรักษ์ความเป็นท้องถิ่น เพื่อเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ไม่หลงลืมตัวตนที่แท้จริง”