นักวิชาการหนุน “สจล.” ร่วมออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา


อาจารย์เอกชัย ชูติพงษ์ นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All ) ว่า เป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ โดยพัฒนาบนฐานมรดกวัฒนธรรม อนุรักษ์-สืบสาน-สร้างสรรค์

โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องสถาปนิกอย่างเดียว แต่เป็นงานผังเมืองที่ได้บูรณาการทำงานระหว่างทีมประวัติศาสตร์ การสืบค้นข้อมูล แผนที่เก่าเพื่อดูว่า ที่นี่เคยเป็นอะไรมาก่อน การมีส่วนร่วมของชุมชน ทีมสิ่งแวดล้อม พฤกษศาสตร์ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ชลศาสตร์ หลากหลายองค์ความรู้ มาผสมผสานเป็นการออกแบบร่วมกัน รับฟังข้อคิดเห็น พร้อมๆ ไปกับแก้ปัญหาชุมชนและสาธารณูปโภคไปด้วย

ตัวอย่างชุมชนที่ได้รับการอนุรักษ์ เช่น ชุมชนวัดเทวราชกุญชร ปากคลองผดุงกรุงเกษม, ชุมชนมิตตคาม 1 หรือชาวน้ำแห่งสุดท้ายของเจ้าพระยา, ชุมชนสีคาม (บ้าน 100 ปี ชุมชนจีนที่มาค้าขายดั้งเดิมใกล้ท่าน้ำสามเสน ตั้งแต่สมัย ร.5), หมู่บ้านโปรตุเกสแห่งบางกอก วัดคอนเซ็ปชัญ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 320 ปี

คนส่วนใหญ่ให้กำลังใจสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ทำงานได้ครบมิติและรอบด้าน เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องธรรมดาที่โครงการใหญ่ย่อมมีคนเสียประโยชน์และเสียงค้าน ดูอย่างสมัยก่อน BTS ก็มีคนเดินขบวนค้าน สังคมจะได้ประโยชน์หากคนในวิชาชีพลดอัตตา และหันมาเสนอแนะร่วมมือกัน ดีกว่าทำร้ายกัน

ปัจจุบันประชากรในปริมณฑลเพิ่มจำนวนสูงมากจากการขยายตัวของเมือง ทั้งปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เมื่อคิดจะพักผ่อนก็จะไปพัทยา ชะอำ หัวหิน ใช้เวลาเดินทาง 3-5 ชม. จึงจะได้พักผ่อน หากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฯแล้วเสร็จ ประชาชนจะได้มาเที่ยวพักผ่อนได้สะดวก และบ่อยขึ้น

Feeder system เชื่อมโครงข่ายตลอดแม่น้ำ 14 กม. มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากการพัฒนาแม่น้ำครั้งใหญ่นี้ หากจะให้เกิดการใช้ประโยชน์เต็มที่ต่อประชาชน และนักท่องเที่ยว ต้องทำให้โครงข่ายการเดินทางจากรอบนอกสู่ทางเดินริมน้ำได้สะดวกตลอดเส้นทาง จะมาเที่ยวแม่น้ำตรงไหนก็ได้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งคนต้องร่วมมือกัน เช่น รฟม., กทม., ขสมก.

ร่วมกันพัฒนาโครงข่ายสนับสนุนขนส่งคน Feeder System เชื่อมต่อรถไฟฟ้าและทางเดิน เพื่อให้ประชาชนจากปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น และนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแม่น้ำและทางเดินได้สะดวกตลอดแม่น้ำฝั่งละ 7 กม.นี้ 

ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองอย่างเดียวจึงจะเข้าถึงแม่น้ำได้ นักท่องเที่ยวมาเยือน กทม.ปีละเกือบ 20 ล้านคน นี่คือโอกาส กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำฯจะเป็นแหล่งดึงดูดให้คนไทย และนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้ และสัมผัสความหลากหลายของมรดกวัฒนธรรมของชุมชนสองฝั่ง

อาจารย์เอกชัย กล่าวถึงเรื่องที่มหาวิทยาลัยรับงานโครงการภาครัฐได้หรือไม่ว่า ขณะนี้มีการยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อรอการวินิจฉัย หากสภาวิชาชีพจะใช้กรณี สจล.เป็นบรรทัดฐานว่า มหาวิทยาลัยรับงานภาครัฐได้หรือไม่  ก็มีการตั้งคำถามว่า จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่รับงานภาครัฐมายาวนานด้วยหรือไม่ 

90 กว่าปีที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกในไทยขึ้นมา จนปัจจุบันมีจำนวนมากมายหลายแห่ง บทบาทของมหาวิทยาลัยไม่เพียงเปิดการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังเป็นที่พึ่งของประชาชน และสังคม สนับสนุนงานภาครัฐในการร่วมพัฒนาประเทศไทยมาจนเจริญก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ด้วย

ที่ผ่านมา แทบทุกกระทรวงมีการจ้างงานมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามากที่สุด ความน่าเชื่อถือและเป็นกลางทางด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยรับงานภาครัฐได้ แม้ไม่มีใบอนุญาตจากสภาสถาปนิก และสภาวิศวกร ในทางปฏิบัติหน่วยราชการทั่วประเทศ ถ้าจะจ้างเอกชนก็ทำ TOR ประกวดแบบ ยกเว้นมหาวิทยาลัยของรัฐมีสิทธิ์รับงานได้ตาม พ.ร.บ.ของ สจล. และสามารถอิงตาม “ระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยพัสดุ ปี 2535”

“ไม่ว่ากระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ออกแบบก่อสร้างอาคารมาทั่วประเทศ กรมอนามัยจะออกแบบโรงพยาบาลทั่วประเทศ กทม. ทหารยุทธโยธา กองพลาธิการตำรวจ ก็อิงระเบียบสำนักนายกฯนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อสรุปคงต้องรอจากคณะกรรมการกฤษฎีกา” อาจารย์เอกชัยกล่าว