"วรวุฒิ จันทร์หอม" เจ้าของผลงานทดลองบนสถานีอวกาศ ISS ฉายมุมมอง!การศึกษาไทย...“ครูควรเน้นให้เด็กได้ลงมือทำจริง”


นายวรวุฒิ จันทร์หอม (มอส) วัย 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เจ้าของผลงาน “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ (Capillary in Zero gravity)” ที่ได้รับการคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ็กซ่า (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) เพื่อให้นายทะคุยะ โอะนิชิ (Takuya Onishi) มนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่น นำไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)  เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา  

ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” สะท้อนถึงสภาพการจัดการศึกษาของไทยว่า

“ยังเป็นระบบที่มาผิดทางมาก คือให้เด็กไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ จะมีความคิดอะไรที่นอกกรอบก็จะถูกบล็อกหมด ปัจจุบันเด็กไทยถูกบล็อกความคิด เพราะครูก็จะบอกว่าเป็นความคิดของเด็ก หากคิดนอกกรอบแล้วเป็นไปไม่ได้ ก็จบ โดยเฉพาะเรื่องความรู้สึก

แต่หากถามผม คำตอบอาจจะเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ หากเรายังไม่ได้ลงมือทำ เราก็ไม่สามารถสรุปได้ แต่ครูส่วนใหญ่สรุปแล้วว่า ไม่ได้ แบบนี้ก็จบ เหมือนเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างหนึ่ง เราสงสัยแต่มาตัดความคิดของเรา ก็เสียความรู้สึก

สื่อมวลชนไทยก็ไม่ค่อยให้ความสนใจทางด้านความรู้ หรืออะไรที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากนัก ส่วนใหญ่ที่ผมเห็นสื่อมวลชนจะไปเน้นเรื่องที่คิดในแง่ลบ ไม่คิดสร้างสรรค์ มีแต่ข่าวฆ่ากันตาย ทะเลาะกัน ตบตีกัน จะออกข่าวเยอะมากมีแถบทุกสื่อ ไม่ว่าจะเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี แต่ข่าวที่เป็นเรื่องความรู้ หรือสิ่งที่สร้างสรรค์ จะออกน้อยมาก

ยิ่งทำให้เด็กไทยไม่มีแรงบันดาลใจที่จะไปเทียบเคียงกับประเทศอื่น เพราะรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าประเทศอื่น รวมทั้งยังเกิดแนวคิดว่าถ้าทำไปแล้วได้อะไร ทำเพื่ออะไร ไม่มีเป้าหมาย เพราะระบบการศึกษาไทยเดินผิดทางมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงอุดมศึกษาด้วย

ผมเห็นว่าครูควรเน้นให้เด็กได้ปฏิบัติ หรือลงมือทำจริง แต่การศึกษาไทยในปัจจุบันจะมีแต่ให้เขียน สอบ หรือจำมาสอบเพียงอย่างเดียว คือสิ่งพวกนี้พัฒนาประเทศได้น้อย ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเรื่องของการวิจัยมากขึ้นก็ตาม แต่ในความคิดของผมยังถือว่าน้อยอยู่

นอกจากนี้ ผมเห็นการวิจัยบางโครงการทำเพียงแค่ปีเดียว ทั้งที่จริงๆ แล้วการวิจัยบางครั้งอาจต้องใช้เวลาและทำอย่างต่อเนื่องหลายปีถึงจะเห็นผล ดังนั้น ที่ผ่านมาเราจึงมักจะได้ยินว่า มหาวิทยาลัยทำวิจัยแล้วก็ขึ้นหิ้ง ซึ่งเป็นเรื่องจริง คือมีแต่คิดใหม่ๆ แต่ของเดิมไม่มีการต่อยอดหรือทำ ถ้าทำก็น้อยมาก เพราะคนไทยชอบคิดว่า หากนำของคนอื่นมาทำ เหมือนเป็นการไปลอกของคนอื่นมา ไม่ใช่ของตนเอง

คนไทยชอบคิดอย่างนี้ แต่หากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะคิดกลับกัน ที่ผมได้ไปดูมาไม่ใช่เชิงลอก แต่เป็นการต่อยอดแนวคิดของคนที่ทำไว้เดิม สังคมไทยสร้างค่านิยมว่า ไม่ใช่ต่อยอด แต่เป็นการลอกจากคนเก่ามาทำใหม่ ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครอยากทำ ผมอยากให้ปรับเปลี่ยนแนวคิดกันเสียใหม่

โดยเฉพาะในระบบการศึกษาไทย ให้ลงมือทำมากกว่าเรียนในห้องสี่เหลี่ยม การลงมือทำ จะสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าที่จะมานั่งทำให้ห้องเรียน แม้จะบอกว่ามีการทำอยู่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่

ที่ผมเห็นส่วนมากครูชอบไปอบรมกัน ทำให้นักเรียนได้เรียนไม่เต็มที่ ส่วนที่บอกว่าครูไปอบรมและได้ความรู้มาก เพื่อมาถ่ายทอดให้นักเรียนนั้น ผมเห็นแล้วว่า นักเรียนไม่เห็นได้อะไรเลยจากครูที่ไปอบรมโน้นนี่ รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับเด็ก เพราะเด็กก็ต้องการการศึกษา แต่เอาครูไปอบรม ในมุมมองของผมเห็นว่า ครูก็เรียนมาแล้วจะไปอบรมทำไมอีก ผมคิดว่าน่าจะมีการประเมินครูกันบ้าง” นายวรวุฒิ กล่าว