ศาลฎีกาพิพากษายืน “ยกฟ้อง” อธิการบดี ม.อุบลฯ “ไม่ผิด” คดีหมิ่นอาจารย์


รายงานข่าวจากงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แจ้งว่า ศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 คดีอาญาที่ 2257/2559 ยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

คดีนี้โจทก์ (นายกังวาน ธรรมแสง ที่ 1 นายไท แสงเทียน ที่ 2) ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555 จำเลย (นางสาวนงนิตย์ ธีระวัฒสุข) หมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองต่อนักข่าว นักศึกษาซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 โดยการโฆษณาด้วยเอกสารและการกระจายเสียง โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสอง ในขณะที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น ทุจริตต่อหน้าที่โดยเข้าไปเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีของผู้บริหารชุดที่ผ่านมา

ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสองต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 80,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา (ระหว่างรอการพิจารณา โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 2 ออกจากระบบ)

ศาลฎีกามีคำพิพากษา สรุปความว่า การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน บุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประชาชนทั่วไป ที่ห้องประชุมเล็กหน้าห้องอธิการบดี จำเลยกระทำไปในฐานะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เนื่องจากมีใบปลิว จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และการชุมนุมปราศรัยของโจทก์ทั้งสองกับพวก ที่โรงอาหารกลางของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวโจมตีมหาวิทยาลัยฯและจำเลย

ทั้งมีการให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่มาทำข่าวการชุมนุมปราศรัยด้วยข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งผู้สื่อข่าวได้นำข่าวการชุมนุมปราศรัยดังกล่าวไปลงหนังสือพิมพ์และแพร่ภาพทางโทรทัศน์ ทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและจำเลยเสียหาย

ถึงแม้การที่จำเลยจัดแถลงข่าวจะมีบันทึกการแถลงข่าวประกอบการแถลงข่าวของจำเลย โดยระบุในบันทึกดังกล่าวว่า กลุ่มแกนนำที่ทำการปราศรัยคืออดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แก่ โจทก์ทั้งสอง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยทราบจากหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์นำข่าวไปลงว่า โจทก์ทั้งสองกับพวกเป็นแกนนำการชุมนุมปราศรัย

นอกจากนี้ ที่จำเลยระบุในบันทึกการแถลงข่าวว่า เหตุจูงใจที่มาจัดปราศรัยเชื่อว่าเกี่ยวเนื่องกับกรณีปัญหาอันเกิดขึ้นจากการบริหารของผู้บริหารชุดที่ผ่านมาในหลายประเด็นได้แก่ ข้อ (1) ถึง (3) ซึ่งเมื่อมาพิจารณาประกอบคำแถลงข่าวของจำเลย ไม่ปรากฏว่าในข้อ 2 (1) และ (3) จำเลยได้ระบุเจาะจงกล่าวหาผู้บริหารชุดที่ผ่านมาซึ่งกระทำผิดว่าเป็นใคร คงได้ความแต่เพียงว่ากรณีตามข้อ 2 (1) และ (3)

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยจำเลยซึ่งเป็นอธิการบดี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดทางวินัย และติดตามเอาเงินของทางราชการคืนมา ซึ่งตามทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองและจำเลย ผู้บริหารชุดที่ผ่านมามีจำนวนหลายคน โดยผู้บริหารแต่ละคนต่างมีงานรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองแยกต่างหากจากัน ฉะนั้น กรณีตามข้อ 2 (1) และ (3) จึงย่อมหมายถึงผู้บริหารชุดที่ผ่านมาซึ่งรับผิดชอบในหน้าที่กรณีตามข้อ 2 (1) และ (3) ที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัย

อีกทั้งการแถลงข่าวของจำเลยก็ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดกรณีตามข้อ 2 (1) และ (3) บุคคลทั่วไปเมื่อฟังจำเลยกล่าวในการแถลงข่าวแล้วย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจไปได้ว่า ผู้บริหารชุดที่ผ่านมาผู้กระทำความผิดตามข้อ 2 (1) และ (3) หมายถึงผู้ใด และหาได้ทราบว่าหมายถึงโจทก์ที่ 1 จากการแถลงข่าวของจำเลยไม่

การที่จำเลยแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีตามข้อ 2 (1) และ (3) จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1

ส่วนกรณีตามข้อ 2 (2) ตามบันทึกการแถลงข่าว จำเลยได้ระบุเจาะจงตัวผู้ทุจริตยักยอกเงินกองคลังของสำนักงานอธิการบดีว่าคือ นายวัชระชัย เชียวโพธิ์ และนางสาวอุมาพร วรนาม ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จ และมหาวิทยาลัยฯได้สั่งลงโทษผู้เกี่ยวข้องได้แก่ผู้ทำการทุจริต และผู้บังคับบัญชาในกรณีไม่กำกับดูแล ไม่ควบคุมดูแลและปฏิบัติราชการประมาทเลินเล่อ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 1 เช่นกัน

ส่วนที่จำเลยกล่าวถึงมูลเหตุให้มีกลุ่มบุคคลจัดทำใบปลิวและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เผยแพร่ รวมทั้งการปลุกปั่นยุยงบุคลากรและนักศึกษาด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อให้ร้ายอธิการบดีและผู้บริหารชุดปัจจุบันอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายเดือน และนำมาสู่การปราศรัย

โดยเชื่อว่ากลุ่มผู้ปราศรัยรวมทั้งกลุ่มที่จัดทำใบปลิว (ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน) มีความคาดหวังว่าหากถอดถอนอธิการคนปัจจุบัน (หมายถึงจำเลย) แล้ว จะทำให้การดำเนินการสอบสวนและติดตามเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการต้องหยุดชะงักหรือล้มเลิก ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตนนั้น

เห็นว่า แม้ข้อความที่จำเลยกล่าวอ้างอาจเกิดความเสื่อมเสียแก่โจทก์ที่ 1 ได้ แต่ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่า ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีคำสั่งปลดนายสุภชัย หาทองคำ นางรัชนี นิคมเขต์ และนางสายฝน สำราญ ออกจากราชการ

และภายหลังที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินจากบัญชีบริหารวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็เริ่มมีใบปลิว จดหมายอิเล็กทรอนิกส์กล่าวโจมตี ใส่ร้ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและจำเลยด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ จนนำไปสู่การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกชุมนุมปราศรัยโจมตีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและจำเลย

ประกอบกับโจทก์ทั้งสองกับพวกยื่นหนังสือต่อนายกสภามหาวิทยาลัย เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นอธิการบดี ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจว่า การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกจัดชุมนุมปราศรัยย่อมมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือนายสุภชัยที่ถูกลงโทษทางวินัยไปแล้วกับนายสัมมนา มูลสาร พวกของโจทก์ทั้งสอง

ซึ่งต่อมาได้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และเพื่อให้มหาวิทยาลัยถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นอธิการบดี จำเลยในฐานะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องประโยชน์ของทางราชการไม่ให้เสียไป

ดังนั้น การที่จำเลยแถลงข่าวโดยมีบันทึกการแถลงข่าวประกอบ กล่าวถึงโจทก์ที่ 1 ดังกล่าว ย่อมถือเป็นการแสดงข้อความอันกระทำไปโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตามคลองธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 (1)

จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน