“จุฬาฯ” เรียนรู้ประสบการณ์จาก ม.แห่งชาติสิงคโปร์ ตั้ง!ศูนย์กลางนวัตกรรม หนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย


รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดี งานยุทธศาสตร์และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ (CU Innovation Hub) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม กำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทย เห็นได้จากงาน “สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2016” ซึ่งจัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

มีคนรุ่นหนุ่มสาวกว่า 30,000 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญและมีแนวคิดจะผลักดันตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม และการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศ ยังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสมต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ หรือ “CU Innovation Hub” เพื่อเป็นช่องทางในการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ และเป็นตัวกลางสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผ่านกิจกรรมและบริการต่างๆ เช่น

การจัดฝึกอบรมในเรื่องการสร้างสรรค์และบ่มเพาะนวัตกรรม การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมให้พร้อมต่อยอดออกสู่ตลาด รวมไปถึงการสื่อสารบริการนวัตกรรมสู่สาธารณะ

ซึ่งศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาฯ ได้จัดงาน CHULA’s Global Innovation Talk เรื่อง “Co-Creating & Commercializing Technological Innovation: Lessons from the NUS ecosystem” เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ในด้านการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างผู้ประกอบการและการนำงานวิจัย นวัตกรรมไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 

“ซึ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรม และศิษย์เก่า ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน”

Prof.Wong Poh Kam ผู้อำนวยการ NUS Entrepreneurship Center มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สิงคโปร์ (NUS)  วิทยากรในงาน CHULA’s Global Innovation Talk กล่าวว่า NUS ได้จัดตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า “NUS Enterprise” เพื่อเพิ่มมิติเกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการในการเรียนการสอนและการวิจัย ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาระบบคิดให้คนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการระดับนานาชาติ  ส่งเสริมจิตวิญญาณของนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ 

ตัวอย่างการดำเนินงานที่สำคัญของ NUS Enterprise ในด้านการสร้างการเรียนรู้จากประสบการณ์ เช่น การริเริ่มโครงการ NUS Overseas Colleges (NOC) ซึ่งมีเป้าหมายให้นักศึกษาของ NUS ได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในสถานประกอบการชั้นนำ และนักศึกษายังสามารถเข้าเรียนวิชาเกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการในชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่เป็นพันธมิตรกับ NUS

ซึ่งศิษย์เก่าของโครงการ NOC จำนวนมากได้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทของตัวเอง ในด้านการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม NUS Enterprise ได้จัดตั้ง Industry Liaison Office (ILO) เพื่อให้บริการความรู้และเทคโนโลยีแก่ทุกภาคส่วน สร้างความร่วมมือกับทั้งแวดวงอุตสาหกรรมและวิชาการ ตลอดจนทำหน้าที่ในการปกป้องและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของ NUS รวมถึงแปลงการค้นพบใหม่ๆ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์

“นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่สนับสนุน “สตาร์ทอัพ” ให้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น บริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี ฯลฯ”