ชวนไปดู!โรงเรียนต้นแบบ “ชุมชนบ้านบ่อประดู่” จ.สงขลา...ปลูกพืชในทรายติดทะเล สร้างรายได้ให้นักเรียน

โรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ต.วัดจันทร์ จัดการศึกษาระดับอนุบาลถึงชั้น ป.6 ปัจจุบันมีนักเรียน จำนวน 223 คน มีครู 10 คน เป็นครูอัตราจ้าง 2 คน โดยมีนางปาลีวรรณ สิทธิการ อายุ 50 ปี ชาว จ.พัทลุง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

จุดเด่นที่ได้รับการยอมรับว่า “เป็นโรงเรียนต้นแบบ” คือ โรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่ ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ “การเรียนรู้” และยังเป็นโรงเรียนต้นแบบการดำเนินโครงการเกษตรปลูกพืชในดินทรายติดทะเล เพื่อโครงการอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ จนประสบผลสำเร็จ

สกู๊ป แวดวงการศึกษา ผอ.ปาลีวรรณ เล่าว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้บอกเลยว่า “เหนื่อย” แต่ไม่เคยท้อ ตนย้ายมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 นับเป็นเวลา 9 ปีแล้ว

ปีแรกเข้ามาตกใจมาก เพราะพื้นที่แต่เดิมไม่ได้สวยงามแบบที่มองเห็นนี้ แต่เป็นพื้นที่รกมาก ไม่น่าอยู่ ต้นหญ้าสูงเท่าเอวเลยตรงสนามฟุตบอล อาคารก็เก่าร้างหมด ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนของนักเรียนต่ำมาก

ส่วนชุมชน ในช่วงแรกบอกว่าไม่อยากได้ผู้บริหารเป็นหญิงเลย กลัวว่าอยู่แค่ไม่กี่ปีก็ต้องย้ายหนีไปโรงเรียนอื่น แต่ด้วยความที่ตนเองเป็นคนจริงใจ ทุ่มเทกับการทำงานมาก โดยจะมาโรงเรียนตั้งแต่เช้า ก่อนครูคนอื่นๆ และตอนเย็นก็จะกลับเป็นคนสุดท้าย เพื่อเป็นต้นแบบให้พวกเขาเห็น

ซึ่งตนเองทำอย่างนี้อยู่หลายปี จนครูและชุมชนมองเห็นและเริ่มยอมรับ จากนั้นเมื่อพบเจอปัญหา พวกเราก็ร่วมแก้กันไป

สิ่งสำคัญของการเป็นผู้บริหาร คือ “ถ้าเราไม่คิดที่จะให้เขา เราก็ไม่ต้องไปคิดว่า จะได้รับจากเขา” ยึดหลัก “ที่ตัวเด็กเป็นสำคัญ และต้องมีหลักคำว่า ธรรมาภิบาลในใจด้วย” คือโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง

โรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่แห่งนี้มีพื้นที่ 55 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้ทะเล ตอนกลางวันอากาศร้อนมาก แห้งแล้ง พื้นดินเป็นดินทราย ผู้ปกครองนักเรียนส่วนมากฐานะยากจน มีอาชีพรับจ้าง ปลูกผัก ทำเกษตร และประมง

นางปาลีวรรณ เล่าต่อว่า เมื่อปี พ.ศ.2554 โรงเรียนเจอพายุถล่ม อาคารที่ได้รับงบประมาณมาเพื่อปรับปรุงสร้างห้องสมุด ซึ่งทำเสร็จไปได้ 80% แล้ว เสียหายพังหมด เห็นแล้วน้ำตาซึมกับสิ่งที่เราทำมาพังไปหมด ส่วนครูได้แต่หันมามองกันไม่รู้จะทำอย่างไร

แต่ตนเองเป็นคนสู้ บอกเพื่อนครูว่าไม่เป็นไร เราต้องสู้เพื่อเด็ก จะได้มีห้องสมุด มีหนังสือที่ดีให้กับเด็กๆ ได้อ่าน โดยการระดมทุนจากหลายภาคส่วน จนสร้างเป็นห้องสมุดมีชีวิต เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ.2555 รวมทั้งเป็นฐานการเรียนรู้ ซึ่งส่งผลต่อเด็กๆ นักเรียนเริ่มมีผลสัมฤทธิ์การเรียนดีขึ้น

ต่อมาคิดต่อไปอีกว่า ด้านหลังห้องสมุดยังมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์อะไร น่าจะมาปลูกพืชเกษตรป้อนเข้าโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน

จากเดิมที่โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วัดจันทร์ ให้มื้อละ 20 บาทต่อคนต่อวัน เพื่อนำมาจัดทำอาหารกลางวันให้กับนักเรียนรับประทานครบทุกคน ตลอด 200 วัน ใน 1 ปีการศึกษา

จากแนวคิดดังกล่าวทางโรงเรียนได้เริ่มขอความร่วมมือจาก อบต. และชาวบ้าน ปรับปรุงพื้นที่อยู่ 2 ปี เนื่องจากพื้นดินเป็นทราย ไม่มีธาตุอาหารให้กับพืช แห้งแล้ง ซึ่งต้องอดทนอย่างมาก

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2556 ทางโรงเรียนเริ่มเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีเงินช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา จึงได้เขียนไปขอรับเงินสนับสนุน และได้เงินมา 80,000 บาท มาปลูกพืชเกษตรอย่างเดียว โดยทำแค่ 2 ไร่ก่อน

ช่วงแรกบอกเลยว่า ท้อมาก ครูก็ไม่อยากทำ เด็กบางคนก็ท้อ เพราะปลูกพืชไม่ขึ้น ผักสวนครัว ไม่ได้ผล จึงคิดหาวิธีว่าอย่างนี้เราต้องไปประสานกับ อบต. หาปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรมาช่วยสอน

สกู๊ป แวดวงการศึกษา “จนได้คุณลุงระนอง ซุ้นสุวรรณ และคนอื่นๆ ที่คอยให้ความรู้ว่าต้องปรับพื้นดินทรายให้มีธาตุอาหารก่อน โดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มาผสมดินเหนียวเพื่อให้เป็นดินร่วน หรือ ดินดำ ในพื้นที่จะปลูกพืชผัก ใช้ปุ๋ยคอกมาปรับหน้าดินรดน้ำ”

จนสภาพเริ่มดีขึ้น ปลูกได้ทั้งมะเขือ บวบ แตงกวา มะระ พริกขี้หนู ข้าวโพด  ผักกวางตุ้ง เพาะเห็ดนางฟ้า แม้แต่ไม้ดอก เช่น ดอกมะลิ ดอกรัก มะม่วงเบา มะละกอ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของ จ.สงขลา

ผอ.ปาลีวรรณ เล่าว่า จากความพยายามพลิกฟื้นผืนดินดังกล่าว ทำให้พืชผักเริ่มงามเขียวขจี จนปัจจุบันนี้ขยายพื้นที่ปลุกเพิ่มขึ้นจาก 2 ไร่ เป็น 7 ไร่แล้ว สามารถสร้างรายได้ให้กับนักเรียนระหว่างเรียนด้วย

โดยเฉพาะรายได้จากการเก็บดอกมะลิ และเก็บผลผลิตจากพืชผักสวนครัว มาป้อนให้กับโครงการอาหารกลางวันโดยผ่านสหกรณ์นักเรียน ในการร่วมกันดูแลผลผลิต หากผลผลิตเหลือ เช่น เห็ดนางฟ้า ก็จะขายให้กับชาวบ้านรอบๆ โรงเรียน เพราะชาวบ้านจะรู้ว่า ผักที่โรงเรียนปลูกปลอดสารพิษ

ผอ.ปาลีวรรณ ยังเล่าอีกว่า ที่โรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่ยังมีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงปลาในบ่อดิน จัดทำธนาคารไก่ โดยให้นักเรียนนำไก่พื้นเมืองมาฝากเลี้ยงที่โรงเรียนตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบตัวเล็กๆ จนโต

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

โดยจะมีเจ้าหน้าที่คือ เด็กนักเรียนชั้น ป.4 จัดทำบัญชีไก่ และเขียนรายละเอียดอัตลักษณ์ว่า ไก่ที่มาฝากสีอะไร เพศอะไร ขายได้ก็แบ่งให้เด็กนักเรียน 80% โรงเรียนได้ 20% โดยเงินส่วนนี้จะโอนเข้าไปเป็นส่วนของโครงการอาหารกลางวัน

“ซึ่งการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้แบบนี้ พวกเขาจะได้เป็นคนหัดสังเกต มีความสามัคคี รู้จักการทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย รวมทั้งปัญหาเรื่องภาวะทุพโภชนาการของเด็กจะลดลง ปัจจุบันมีนักเรียนผอม และเตี้ยอยู่เพียง 4.48% เท่านั้น” ผอ.โรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่ กล่าว

สกู๊ป แวดวงการศึกษา ด้าน ด.ญ.วรรณพร การเกษ “เดียร์” อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป.5/2 สะท้อนข้อเท็จจริงในมุมมองของนักเรียนว่า ตนเป็นหัวหน้าห้อง เดิมบ้านอยู่ จ.หนองคาย พ่อแม่มารับจ้าง พักอยู่ใกล้ๆ โรงเรียน ตนเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ตอนนี้อยู่ชั้น ป.5 แล้ว

มีหน้าที่รับผิดชอบพวกพืชใบกระเพา โหรพา เช้ามาโรงเรียนครูจะบอกให้รดน้ำต้นไม้ที่เราดูแลรับผิดชอบ โดยจะรดน้ำทั้งเช้าและเย็นทุกวัน พอ 15 วันผ่านไป ก็เริ่มใส่ปุ๋ย ทำให้ต้นไม้งามเขียว ถ้าไม่ใส่ปุ๋ยต้นไม้ก็ไม่โต ส่วนดอกมะลิก็จะคอยดูแลเหมือนกัน จะเด็ดใบแก่ทิ้งแล้วใส่ปุ๋ยคอกที่โคนต้น ดอกจะออกเยอะมากใหญ่ด้วย 

“จากนั้นจะนำดอกมะลิไปขายให้สหกรณ์นักเรียน แล้วให้สหกรณ์นำไปขายต่อกับชาวบ้าน เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนเข้าโครงการอาหารกลางวัน จนหนูได้รับประทานอาหารกลางวันอิ่มทุกวัน หนูชอบมาก อยากให้โรงเรียนเปิดทุกวัน”

ขณะที่ ด.ญ.สิริกานต์ โทมุณี อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.4 เล่าว่า ที่ห้องเรียนมีนักเรียน 33 คน ช่วยกันดูแลต้นมะเขือ ใส่ปุ๋ยรดน้ำ ทำให้ต้นมะเขือเจริญเติบโตดี หนูชอบมาก เพราะต้นเขียวสวย

“อากาศที่นี่ร้อนมากตอนกลางวัน ไอทะเลจะพัดเม็ดเกลือเล็กๆ มาเกาะที่ต้นไม้ ทำให้พืชผักใบหงิกงอ จะมีคุณลุงมาให้คำแนะนำ สอนว่าต้องรดน้ำแบบอาบน้ำให้ต้นไม้ เพราะจะได้เอาเม็ดเกลือเล็กๆ ที่เกาะตามใบ และต้นออกทุกวัน ต้นไม้เลยงาม เห็นแล้วก็ชื่นใจ ยิ่งตอนออกดอกและผล หนูตื่นเต้นมาก”

เพราะคำว่า “ทุ่มเท จริงใจ และอดทน” ที่ทำให้ชาวโรงเรียนชุมชนบ้านบ่อประดู่ประสบความสำเร็จ เป็นโรงเรียนต้นแบบที่ปลูกพืชในทรายติดทะเล เพื่อโครงการอาหารกลางวันให้เด็กๆ ได้กินอิ่ม และไม่เกิดภาวะทุพโภชนาการ

โดย : นงนวล รัตนประทีป