“มทร.กรุงเทพ” เจ้าภาพประชุม! วิชาการ 9 ราชมงคล ระดมตอบโจทย์พาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง


เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) กรุงเทพ จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 8 (RMUTNC 8th) และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 7 (RMUTIC 7th) ภายใต้แนวคิด Creative Technology for All “ราชมงคลสรรค์สร้างเพื่อสังคม” รวมถึงนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยเพื่อสังคมอย่างยิ่งใหญ่

แสดงศักยภาพด้านงานวิจัยและการบริการทางวิชาการ ของ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ จับต้องได้และพร้อมนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยเชิญ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน มาร่วมปาฐกถาพิเศษจุดประกายให้นักศึกษา นักวิจัยสร้างผลงานทางวิชาการ เพื่อร่วมหาทางออกให้ประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดี มทร.กรุงเทพ ในฐานะมหาวิทยาลัยเจ้าภาพการจัดงานประชุมวิชาการ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เปิดเผยถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า ประกอบไปด้วยงานประชุมระดับชาติเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 8 (RMUTNC 8th) การประชุมวิชาการระดับนานาชาติเทคโนโลยีราชมงคล ครั้งที่ 7 (RMUTIC 7th)

และงาน CreTech2016 ซึ่งเป็นการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 ซึ่งทั้งสามงานประชุมวิชาการได้ถูกนำมาจัดและนำเสนอภายใต้แนวคิด Creative Technology for All “ราชมงคลสรรค์สร้างเพื่อสังคม”

เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย มทร.กรุงเทพ, มทร.ธัญบุรี, มทร.พระนคร, มทร.ศรีวิชัย, มทร.รัตนโกสินทร์, มทร.อีสาน, มทร.สุวรรณภูมิ, มทร.ล้านนา และ มทร.ตะวันออก ในด้านงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ และความแข็งแกร่งในการให้บริการด้านการศึกษาแก่สังคม

นอกเหนือไปจากการเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความก้าวหน้าทางวิชาการใหม่ๆ ระหว่างนักวิจัยและผู้ปฏิบัติงานจากทั้ง 9 มทร. และมหาวิทยาลัยเครือข่ายจากในและต่างประเทศ

กลุ่ม 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้มีการผนึกกำลังทำยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านการศึกษาและวิจัย ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมร่วมกัน ใน 6 ยุทธศาสตร์

ได้แก่ ด้าน 1.ลอจีสติกส์ และระบบขนส่ง ประกอบด้วย อากาศยาน ระบบล้อและราง และระบบขนส่งทางบก ระบบขนส่งทางทะเล 2. ภาระกิจผลิตครูช่างและเกษตรอาหาร 3. เศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล 4.การจัดการน้ำ 5.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ 6. กิจการเพื่อสังคม

ดร.สาธิตกล่าวทิ้งท้ายว่า การสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในมิติต่างๆ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ไปได้

ซึ่งสอดคล้องกับการปาฐกถาของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่ได้บรรยายให้กับผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิจัยของ 9 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการว่า การติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา และเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น

เพราะประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ก็ยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่คล้ายๆ กันคือ การเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชากรในอดีตที่ผ่านมา เป็นการเติบโตที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ระบบการจัดการ บุคลากร และตลาด ซึ่งมาผลิตและใช้ทรัพยากร และแรงงานราคาถูกในบ้านเราแล้วส่งออก

เรียกได้ว่าการเติบโตที่ผ่านมา เรายืมจมูกคนอื่นมาหายใจ จึงไม่ใช่การเติบโตอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยและอีกหลายๆประเทศไม่สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้

ดร.สุรินทร์ ยังมองว่า การทำวิจัย และทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ประเทศเกิดความยั่งยืน และสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้