เผยผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2558


ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าวผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2558 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า มหาวิทยาลัยมหิดลคัดเลือกผลงานของอาจารย์ นักวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและประชาชน ให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกจะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร 2 กันยายน 2559 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร

สำหรับปีการศึกษา 2558 นี้ มีผู้ได้รับรางวัล 8 ราย จาก 5 สาขา ได้แก่ สาขาความเป็นครู สาขาการวิจัย สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม สาขาการแต่งตำรา และ สาขาการบริการ ดังนี้

โดยรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์พรรณ ศิลปสุวรรณ ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ผู้เรียนมีความสุขกับการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ คิด จากประสบการณ์ตรงนำสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากงานวิจัย

มีผลงานวิจัยดีเด่นจากการได้สำรวจการรับรู้ของประชาชนเรื่องรูปแบบการตายของนักโทษประหารชีวิต จากการตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า มาเป็นการใช้ยาฉีด จากประชากร เขตกรุงเทพมหานครฯ (ทุนวิจัย CMB) แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวลชน

ส่งผลให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ได้มีหนังสือมาขอเครื่องมือและวิธีการสำรวจ ขยายผลไปทั่วประเทศและใช้เป็นข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประหารชีวิตของนักโทษในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.ศรีสิน คูสมิทธิ์ ภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อุทิศเวลาในการถ่ายทอดความรู้ อบรมสั่งสอนนักศึกษา ทั้งในด้านวิชาการและความมีคุณ ธรรม โดยมีหลักในการสอนอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของเหตุผล เน้นกระบวนการคิด วิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ เรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดชีวิต

กระตุ้นให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการวิจัย และความมีจริยธรรมในการทำวิจัย เพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า เป็นกำลังสำคัญของสังคมและประเทศชาติต่อไป

งานวิจัยที่สร้างชื่อเสียง คือ การวิวัฒน์การวิจัยวัคซีนมาลาเรียโดยพบระบบการปล่อยวัคซีนที่มีความสำคัญในการก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อการป้องกันโรค โดยมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการจำนวน 80 เรื่อง ซึ่งเป็นวารสารนานาชาติจำนวน 78 เรื่อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงมยุรี หอมสนิท ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ทุ่มเททำหน้าที่ครูแพทย์ สอนเนื้อหาความรู้และฝึกประสบการณ์อย่างเหมาะสม เพื่อศิษย์สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนได้จริง โดยเชื่อมโยงความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ อิงตามทฤษฎีการศึกษา ไม่ปิดกั้นจินตนาการและความใฝ่รู้ของศิษย์ 

สร้างคนที่มีทักษะทางปัญญา อารมณ์ และสังคม เพื่อเป็นแพทย์ที่ดีของประชาชน เคยได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นระดับคลินิก ทุนรางวัลเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ปีการศึกษา 2557 จากการปฏิบัติหน้าที่ในภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมมากว่า 10 ปี

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิจัย ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ อุดมกิจ หัวหน้ากลุ่มวิจัยชีววิทยาโมเลกุลของกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการวิจัยเรื่อง “การทดแทนการตัดตากุ้งเพื่อกระตุ้นการวางไข่ โดยการใช้สารชีวโมเลกุล” ผู้วิจัยได้พัฒนาวิธีการกระตุ้นการวางไข่ของกุ้งโดยไม่ต้องตัดตา โดยการฉีดแม่พันธุ์กุ้งด้วยสารอาร์เอ็นเอสายคู่เพื่อไม่ให้มีการสร้างฮอร์โมนที่ยับยั้งการพัฒนารังไข่

ทำให้สามารถกระตุ้นแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ ทั้งแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในบ่อดินและแม่พันธุ์จากธรรมชาติ ให้มีการพัฒนารังไข่และสามารถวางไข่ได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับแม่กุ้งที่ถูกกระตุ้นการวางไข่ด้วยวิธีตัดตา เป็นผลงานวิจัยที่สำคัญยิ่งต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่สำคัญคือเป็นวิธีที่ไม่ทารุณ และจะทำให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตลูกกุ้งได้โดยไม่ต้องตัดตาซึ่งเป็นที่ยอมรับตามกฎสากล             

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา ได้แก่ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงปิยาภรณ์ อภิสารธนรักษ์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผลงานการแต่งตำราเรื่อง “การแปลผลภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของตับ” เป็นหนังสือภาษาไทยเล่มแรกที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการแปลผลภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของตับ

โดยมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ทั้งที่เกี่ยวกับเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ลักษณะทางกายวิภาคของตับ และเทคนิคที่ใช้ในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของตับ ไปจนถึงระดับที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ของตับได้จริง

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อรังสีแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์ทั่วไป ตลอดจนแพทย์ประจำบ้านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคตับ

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลการประดิษฐ์และนวัตกรรมเรื่อง “จมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว” เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรา “มองเห็น” กลิ่นได้ โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับกลิ่นโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร และ เครื่องดื่มชนิดต่างๆ กลิ่นไม่พึงประสงค์ น้ำหอม ข้าว ผลิตภัณฑ์เกษตร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และควบคุมคุณภาพทางด้านกลิ่นที่มีส่วนสำคัญต่อรสชาติ

อีกทั้งยังนำไปใช้เพื่อการตรวจหาโรค เช่น มะเร็งตับ และ เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถที่จะต่อยอดไปสู่อุปกรณ์ในรูปแบบอื่นๆได้ เช่น ทำเป็นเสื้อดมกลิ่นตัว เพื่อติดตามโมเลกุลกลิ่นที่ปลดปล่อยออกจากร่างกาย หรือ ติดตั้งบนโดรนเพื่อใช้บินตรวจวัดคุณภาพอากาศ เป็นต้น

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ทันตแพทย์เกียรติอนันต์ บุญศิริเศรษฐ ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นผู้เสียสละ ทุ่มเท เพื่อให้บริการผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของใบหน้า ขากรรไกร ผู้ป่วยยากไร้ ด้อยโอกาส ถึง 270 ชั่วโมงทำการต่อปี ซึ่งจำนวนผู้ป่วยยากไร้ ด้อยโอกาส ระหว่างปี พ.ศ.2554–2558 มีผู้ป่วยยากไร้ด้อยโอกาสได้รับการผ่าตัด 185 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ 111 ราย Hemifacial Microsomia 4 ราย มะเร็งช่องปาก 9 ราย เนื้องอกกระดูกขากรรไกร 30 ราย และอื่นๆ 31 ราย

นอกจากนี้ ยังอุทิศตนเป็นวิทยากรให้ความรู้ ทั้งแก่บุคลากรในสาขาวิชาชีพ สาขาเฉพาะทางศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล และสาขาอื่น รวมถึงแก่ประชาชนทั่วไปตลอดมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการตรวจรักษาทางด้านโรคกระดูกและข้อ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้วางแผนและบริหารกระบวนการดำเนินงานภายในโรงพยาบาล

โดยมุ่งเน้นคุณภาพในการรักษาและการให้บริการที่ดี คำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการให้บริการ สามารถเข้าถึงผู้รับบริการในทุกระดับชั้น ทำให้ผู้รับบริการเกิดความพึงพอใจสูงสุด

รวมถึงการนำนวัตกรรมทางการแพทย์และการบริการมาประยุกต์ใช้ สามารถนำโรงพยาบาลศิริราชผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพขั้นก้าวหน้า (Advanced HA) โดย สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นโรงพยาบาลแรกของประเทศ