“น.ศ.วิศวะดนตรีฯ สจล.” ตะลุย!แดนดนตรีและเทคโนโลยี...ญี่ปุ่น

โลกของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เยาวชนคนรุ่นใหม่จะต้องพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถในด้านต่างๆ ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีบนโลกใบนี้ 

สกู๊ป แวดวงการศึกษา การฝึกประสบการณ์หรือการศึกษาดูงานในสังคมต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม  นับเป็นอีกโอกาสของการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองและเสริมสร้างความเป็นผู้นำตลอดจนนำองค์ความรู้ที่เก็บเกี่ยวจากการศึกษาดูงานมาพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป                                                         

ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า ในโอกาส 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น คณะวิศวลาดกระบังได้พานักศึกษาเดินทางไปศึกษาดูงานด้านวิศวกรรมดนตรีที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ก้าวล้ำด้านดนตรีและเทคโนโลยีของโลก เรียนรู้การทำงานของคนต่างภาษาและวัฒนธรรม 

นักศึกษาได้ไปศึกษาดูงานบริษัท ยามาฮ่ามิวสิค คอร์เปอร์เรชั่น ซึ่งเป็นศูนย์ผลิตเครื่องดนตรีและดนตรีศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการสนับสนุนจากสยามดนตรียามาฮ่า

เยี่ยมชมสถาบันวิจัยสุดล้ำของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK ที่มีชื่อเสียง ซึ่งทีมเราได้นำภาพเก่าๆ ของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นจากสถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK ที่เคยเดินทางมาอยู่ที่เมืองไทยเป็นปีๆ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมให้คนไทยเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้ง สจล.เมื่อ 55 ปีก่อน พวกเขาประทับใจมากในความสัมพันธ์ของคนไทย-ญี่ปุ่นที่อยู่เคียงข้างกันตลอดมา

นอกจากนี้ นักศึกษายังไปเยี่ยมชมและแสดงดนตรีร่วมกับภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยโตไกนักศึกษาไทยและนักศึกษาญี่ปุ่นได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำกิจกรรมทางดนตรีร่วมกันด้วย

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

พีรณัช ราชชา “กล้า” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เล่าว่า ตื่นเต้นครับที่ได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่ดนตรียามาฮ่า (YAMAHA) ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดนตรี และโรงเรียนดนตรีศึกษาที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดของโลก มีประวัติความเป็นมากว่า 130 ปี ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เป็นความสามารถทางศาสตร์และศิลป์ของชาวญี่ปุ่นที่สามารถผลิตเครื่องดนตรีสากลมาตรฐานสูง เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก กระบวนการผลิตเครื่องดนตรีจะต้องใช้ความประณีตมาก มีทั้งใช้หุ่นยนต์เครื่องจักรและแรงงานคน เราได้สัมผัสการทำงานขององค์กรญี่ปุ่นที่มีสปิริตของทีมเวิร์ค ระบบการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นก่อนที่จะมีการส่งออกจำหน่าย

“พวกเขาก็จะใส่ใจในรายละเอียดเสมอ ตลอดระยะเวลาที่ศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นทุกอย่างต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองและอาศัยเทคโนโลยีจากโทรศัพท์มือถือช่วยในการเดินทาง”

ณวัสน์ ภู่พันธ์ชสีห์ “ภณ” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาของมนุษย์ที่น่าทึ่งที่สุด คือ เครื่องดนตรี ยิ่งได้ลองมาดูขั้นตอนในการผลิตที่มนุษย์เราได้สร้างชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาประกอบเป็นเครื่องดนตรี จากเหล็กแผ่นหนึ่งมาเป็นแซกโซโฟน บางส่วนต้องใช้คนเท่านั้น

เช่น รอยต่อของแซ็กโซโฟน ต้องพิถีพิถันอย่างมากและจะมีการทดสอบการสั่นสะเทือนของเครื่องดนตรีว่าสามารถรับแรงได้มากแค่ไหน ทดสอบความคงทนของแซกโซโฟนสามารถกดแป้นคีย์ได้กี่ครั้ง

ผมประทับใจในความตรงต่อเวลาของคนญี่ปุ่น และมีการจัดการที่ดี เช่น การจัดการขยะ เขาจะเก็บขยะกลับไปทิ้งที่บ้านของตนเองเสมอ ขยะบางประเภทก็นำมารีไซเคิล นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยโตไก ยังแสดงความขอบคุณต่อคนไทย จากการที่ประเทศญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโตไกเสียชีวิต 3 คน เป็นที่เศร้าสลดใจมาก

“ทางวิศวกรรมดนตรีฯ สจล.และวงดนตรีนูโว ได้ร่วมกันจัดคอนเสิร์ตชื่อ Relief for Japan ที่ สจล.เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราถือโอกาสนี้นำเงินรายได้จากคอนเสิร์ตไปมอบแก่มหาวิทยาลัยโตไกเพื่อนำไปช่วยผู้ประสบภัยด้วย ผมเห็นคนญี่ปุ่นหลายคนถึงกับน้ำตาซึม”

สกู๊ป แวดวงการศึกษา

สมประสงค์ เป้ามีพันธ์ “เป้า” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สะท้อนว่า เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากครับ ได้ไปศึกษาดูงานสถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK ที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น เขาเปิดOpen House แสดงนิทรรศการ วิวัฒนาการของ NHK

สกู๊ป แวดวงการศึกษา และเป็นการเปิดตัวเทคโนโลยีที่คิดค้นพัฒนาขึ้นมาใหม่ เช่น การออกอากาศทีวีระบบ 4K 6K และ 8K ที่มีความคมชัดสูง ซึ่งจะใช้ในการแข่งขันโอลิมปิก หรือการนำเอาเทคโนโลยีสุดล้ำมาทำให้เป็นปลาเสมือนจริง เราสัมผัสได้ถึงความลื่น ความมัน เหมือนได้สัมผัสกับตัวปลาจริงๆ ระบบเสียงเซอร์ราวด์ 22 ชาแนล ทำให้เสียงมีความละเอียดเป็นธรรมชาติ ฟังวงออเคสต้าได้เต็มวง โรงภาพยนตร์ในอนาคตจะเป็นระบบนี้

ส่วนการปฏิบัติงานของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ NHK แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้มุ่งเน้นแค่การผลิตและออกอากาศเท่านั้น แต่เขายังมุ่งมองอนาคต พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้คนในวันนี้ได้ใกล้ชิดกับเทคโนโลยีอนาคตด้วย 

“ผมชื่นชอบการใช้ชีวิตของคนในญี่ปุ่นที่เรียบง่าย บ้านเมืองสะอาดน่าอยู่ ได้พบเจอนวัตกรรมสิ่งแปลกใหม่”

ด้าน “มุก” อัจฉราพรรณ เคลิ้มวิลัย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ประทับใจกับห้องแล็บภาพ 3D ของมหาวิทยาลัยโตไก ที่ชินาคาว่าแคมปัส มีการจำลองภาพเสมือนจริงขึ้นมา ทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ

ในโอกาสนี้พวกเราได้นำข้าวหอมมะลิของไทยจากจังหวัดสุรินทร์ นำไปเป็นที่ระลึกแก่ชาวญี่ปุ่นด้วยค่ะ อย่างน้อยเราได้มีโอกาสประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้กับคนญี่ปุ่นด้วย ตอนไปดูงานที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งรวบรวมประวัติการก่อตั้งของมหาวิทยาลัยโตไก ได้เห็นถึงความยากลำบากของคนญี่ปุ่นรุ่นก่อนๆ ได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตของนักศึกษาในต่างแดน 

และฝึกงานในห้องทดลองทางด้านดนตรี ทดลองอัดเสียงดนตรี มีห้องควบคุมระบบเสียงต่างๆ และการเก็บรักษาเครื่องดนตรี ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก แต่ก็ยังอนุรักษ์วัตถุโบราณต่างๆที่ถูกค้นพบในท้องถิ่นญี่ปุ่นเอง

“นักศึกษาจากประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนักศึกษาญี่ปุ่น ด้วยการแสดงโชว์และเล่นดนตรีด้วยกันสนุกสนานมากและเต็มไปด้วยมิตรภาพที่อบอุ่นของสองสถาบัน” มุก กล่าวส่งท้าย