สัมผัสเวที! STEM มืออาชีพสำหรับครูอาเซียน เตรียมความพร้อม...สู่การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21

ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงอาเซียน หากเราเรียนรู้หรือทำความรู้จักกับอาเซียนไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ศาสตร์ในวิชาอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ก็น่าจะดีไม่น้อย...

ซึ่งแนวทางการจัดการศึกษาแบบ STEM ช่วยได้

เพราะเป็นการบูรณาการความรู้วิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน 

ประกอบกับการเรียนการสอนแบบ STEM จะช่วยให้การเรียนรู้สนุกมากขึ้น โดยเน้นการนำความรู้ที่ได้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และ สถาบันนานมีบุ๊คส์ อินโนเวชั่น จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “STEM มืออาชีพสำหรับครูอาเซียน” ขึ้น ที่อาคารนานมีบุ๊คส์เฮ้าส์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 โดย อาจารย์ฤทัย จงสฤษดิ์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญการสอนวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การอบรมครั้งนี้ มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในอัตลักษณ์ของประเทศในอาเซียน ผ่านกิจกรรม STEM เพื่อนำไปบูรณาการการสอนในชั้นเรียน รวมทั้งการจัดกิจกรรม นิทรรศการ และค่ายอาเซียน

สามารถออกแบบและพัฒนากิจกรรมวิทยาศาสตร์ได้ รวมถึงมีการใช้ ASEAN STEM Plus นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบ Project Approach และ Problem Based ที่บูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์

โดยเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของอาเซียน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน

สกู๊ป แวดวงการศึกษา อาจารย์ฤทัย จงสฤษดิ์ กล่าวถึงเนื้อหาและความสำคัญของการอบรมครั้งนี้ว่า เป้าหมายสำคัญในการจัดอบรมครั้งนี้ เรื่องแรกคือประเทศไทยได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น ต้องทำอย่างไรเพื่อให้คนไทยและเด็กไทยเข้าใจความเป็นอาเซียน และภาคภูมิใจในการเป็นอาเซียน ในด้านทรัพยากร เรื่องของการประกอบอาชีพ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ วัฒนธรรม สังคม และภาษา

วิธีการคือ ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ผ่านการลงมือ เช่น ตั้งคำถามว่ารู้ ไหมประเทศพม่ามีหิมะ...และชวนเด็กลงมือทำการทดลองเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นของแข็ง จากน้ำเป็นน้ำแข็งทำได้อย่างไร หรืออย่างคนไทยปลูกข้าว ก็จะดูว่ามีการทดลองเกี่ยวกับข้าวไหม

“สรุปคือเราอยากให้คนไทยและเด็กไทยเข้าใจความเป็นอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องของศิลปะวัฒนธรรม การประกอบอาชีพ ผ่านการลงมือทำ คิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เด็กสนุกกับการทดลองต่างๆ จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมหลักสูตรนี้”

อาจารย์ฤทัย กล่าวเสริมถึงการเรียนรู้ผ่านการทดลองว่า ในเรื่องของเป้าหมายด้านกระบวนการที่จะมอบให้ครูมีสองเรื่อง เรื่องแรกคือ ความรู้ความเข้าใจ เรื่องที่สอง คือ แรงบันดาลใจและทักษะ เมื่อเด็กได้ลงมือทำ เด็กจะเกิดความประทับใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ มีความภูมิใจในการเป็นอาเซียน

“มีทักษะมากขึ้น เพราะเด็กได้ลงมือทดลองเอง ได้แก้ไขปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญ การทดลองที่เลือกมาต้องสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน”

ทั้งนี้ ในการอบรมครั้งนี้มีครูและบรรณารักษ์ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก

สกู๊ป แวดวงการศึกษา หนึ่งในนั้นคือ ครูอารียา แสงอุ่น หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กล่าวถึงผลที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ว่า การอบรมครั้งนี้มีประโยชน์มาก จัดได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นความรู้ของตัวเอง จริงๆ แล้วครูวิทยาศาสตร์ทุกคนมีทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อสอนไปนานๆ อาจหลงลืมเอาทักษะวิทยาศาสตร์มาใช้ในห้องเรียน

เมื่อได้เข้าร่วมอบรมเหมือนเป็นการทบทวนและย้ำกับตัวเองว่า อย่าลืมที่ต้องนำทักษะวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเรียนการสอน และเตือนตัวเองด้วยว่าควรจัดการการเรียนการสอนแบบนี้ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก เราเรียนแล้วเรานำมาสอนต่อกับเด็ก ต้องทำให้เด็กชอบและสนุกกับการเรียน

“คือเน้นว่าเด็กต้องได้ลงมือทำการทดลองด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดีกว่าเรียนแบบท่องจำ”

นอกจากนี้ ครูอารียา ยังได้พูดถึงส่วนของ ASEAN STEM Plus ที่มีการบูรณาการความรู้ระหว่างวิทยาศาสตร์และอาเซียนเข้าด้วยกันว่า การที่เราดึงเนื้อหาวิทยาศาสตร์กับอาเซียนมาให้เข้ากับบทเรียน ทำให้เกิดการเชื่อมโยง และเด็กที่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ เขาได้เห็นว่าถ้าเขาเชื่อมโยงไปสู่ชีวิตประจำวันแล้ว จะเกิดประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเขาจะได้คำตอบด้วยตัวเขาเอง

“ทำให้เขาสนใจเรื่องราวอย่างอื่นนอกเหนือจากที่เขาทดลอง จุดประกายให้อยากรู้ ทดลองเรื่องนี้แล้วอยากรู้ว่ามีเรื่องอะไรในอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีก เป็นการต่อยอดการเรียนรู้และการค้นคว้าด้วยตัวเอง”

 สกู๊ป แวดวงการศึกษา

ฉะนั้น การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำและค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง มีความสำคัญช่วยจุดประกายและต่อยอดการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ หากครูผู้สอนนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ STEM ไปปรับใช้ในห้องเรียนได้ เด็กๆ คงสนุกและรักที่จะเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน