รองเลขาธิการสภาการศึกษา เผยวิบากกรรม!โฮมสคูลไทย “เหมือนหน่วยงานรัฐปล่อยปละละเลย...”


ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ โฮมสคูล ว่า เป็นการ ให้ครอบครัวจัดการศึกษาได้นั่นเอง หรือจะเรียกอีกชื่อว่า “บ้านเรียน” ก็ได้  ซึ่งที่ผ่านมาสภาการศึกษาก็ได้ร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการขึ้น เนื่องจากมีหน้าที่เสนอกฎหมาย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 ได้มีการประกาศใช้ “กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว”

จริงๆ แล้วการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล ถือเป็นแนวคิดที่ดี เพราะเป็นการสร้างทางเลือกในการจัดการศึกษาให้กับผู้ปกครองที่มีความพร้อม สำหรับเด็กที่เรียนโฮมสคูลจะมีพ่อแม่ค่อนข้างพร้อมเรื่องการเงินดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือลูกเรียนในระบบโรงเรียนไม่ได้

หรือพ่อแม่บางคนไม่เชื่อว่าระบบคุณภาพการศึกษาของเมืองไทยดีพอสำหรับลูกเขา จึงให้เรียนแบบโฮมสคูล แต่ถ้าเป็นเด็กที่ครอบครัวความพร้อมไม่ดีพอ เช่น เรื่องเงิน เรื่องเวลาไม่มี เรียนไปสักพักก็ต้องเอามาฝากในระบบสถานศึกษาเหมือนเดิม

รองเลขาธิการสภาการศึกษากล่าวต่อว่า กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ.2547 ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้อยู่นั้น ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานหลักในการรับขึ้นทะเบียน ส่งเสริม และควบคุมมาตรฐานการประกันคุณภาพ

ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบ เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกับการจัดการศึกษาทั่วไป เช่น เรื่องการสอบวัดผลประเมินผลใน 8 กลุ่มสาระวิชา

ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อที่ครอบครัวที่สนใจอยากจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล จะได้ไปขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนรายหัวที่ภาครัฐสนับสนุนด้วยเช่นกัน

สำหรับการเทียบวุฒิการศึกษา ได้มีการมอบให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นผู้ดำเนินการออกวุฒิการศึกษา หากสนใจเพื่อนำไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีกฎระเบียบที่รัฐต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ถึงแม้ว่าการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ โฮมสคูล จะมีกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ซึ่งผ่านมาแล้วหลายปีก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นงานใหม่ของ สพฐ.

เพราะเมื่อมีผู้ปกครองมาติดต่อขอขึ้นทะเบียน ก็มักจะมีปัญหาต่างๆ และเมื่อทำไปได้ระยะหนึ่ง สพท.บางแห่งก็กลับเอามาตรฐานการศึกษาในระบบโรงเรียนไปประเมินทั้งในเรื่องของกฎ ระเบียบต่างๆ และรูปแบบการสอน จึงทำให้เกิดความคับข้องใจกับผู้ปกครองที่สอนบุตรหลานเอง คิดว่าการดำเนินการเหล่านั้นของภาครัฐไม่ใช่สิ่งที่เป็นการศึกษาโดยครอบครัว หรือ โฮมสคูล

“ทำให้มีผู้ปกครองบางรายไม่ยอมจดทะเบียน และนำไปเทียบวุฒิการศึกษาในต่างประเทศแทน นี่คือปัญหาของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว หรือ โฮมสคูล ทุกวันนี้” ดร.สมศักดิ์กล่าว

รองเลขาธิการ สกศ.กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าจากที่มีกฎกระทรวงฯให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลได้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547เราพบว่าทำได้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ในส่วนที่ไม่ได้ตามเป้าประสงค์กลายเป็นการทำร้ายเด็กโดยไม่รู้ตัว

แทนที่เด็กจะมีพื้นฐานแบบกว้างๆ มีเพื่อนเล่น แต่เด็กกลับรู้เพียงหนึ่ง สอง สามอย่างเท่านั้น เราจึงต้องมีกฎหมายบังคับว่า เด็กจะต้องเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชา นอกจากนี้ จะไปเรียนเสริมอะไรทางกระทรวงศึกษาฯก็ไม่ว่าอะไร

ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความเข้าใจของผู้ปกครองกับหน่วยงานรัฐไม่ตรงกัน ผู้ปกครองต้องการจัดการศึกษาแบบอิสระ ไม่มีรูปแบบ 100% บางคนคิดว่าแค่อ่านออกเขียนได้ก็พอแล้ว แต่ในทางปฏิบัติมีข้อบังคับของภาครัฐว่าทำไม่ได้ เพราะการศึกษาภาคบังคับและเรียนแบบโฮมสคูล ก็ต้องทำตามกติกาที่รัฐวางไว้ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยกับบ้านเมือง

ในขณะที่ประเด็นการเทียบวุฒิการศึกษาที่มอบให้ กศน.จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องของกฎ ระเบียบ ลองสังเกตดูว่า คนเก่งๆ มักจะทำงานร่วมกับคนส่วนใหญ่ไม่ได้ เพราะอีคิวเขาจะเสีย เรื่องนี้จะบอกว่าใครผิดใครถูกไม่ได้

อีกเรื่องคือ จะต้องยอมรับว่ากระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ.เราอยู่ในระบบเป็นข้าราชการ เราต้องดูแลทั้งระบบ ดูแลคนทั้งประเทศ แต่โฮมสคูลเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาตัวของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีความรู้ มีฐานะ และไม่เชื่อในระบบการศึกษาไทยว่า ดีพอ

“ดังนั้น การขึ้นทะเบียนในช่วงแรกจึงพบว่า มีเพียงประมาณ 100 ครอบครัว และช่วงหลังทราบว่า มีจำนวนลดลงไปมาก รวมทั้งสัดส่วนที่จัดการศึกษาแบบโฮมสคูลประสบความสำเร็จ ก็มีน้อยมากไม่ถึง 10% เพราะหน่วยงานรัฐเองก็ไม่มีเวลาไปติดตาม เหมือนเป็นการปล่อยปละละเลย” รองเลขาธิการ สกศ.กล่าว