สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์” เล่าเรื่อง “ครูเก่ง” เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว...แต่ “ครูปัจจุบัน”...


จากกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการกองทุนการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคณะองคมนตรี ได้กล่าวระหว่างเป็นประธานมอบโอวาทนักศึกษาทุน กองทุนการศึกษาพระราชทานในระดับอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2559 จำนวน 12 คน ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้ไปดูคุณครูว่า มีความพร้อมหรือไม่ในทุกๆ ด้าน ถ้าคุณครูไม่พร้อม การที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนคงไม่ดีเท่าที่ควร และทรงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของโครงการกองทุนการศึกษาที่จะต้องหาวิธีการทำให้คุณครู และโรงเรียนมีความพร้อม

ซึ่งที่ตนพูดเรื่องครู เพราะอยากเน้นโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎ ให้ดูแลเรื่องการผลิตครู อยากให้มีการเปรียบเทียบ ทำวิจัย เก็บข้อมูล โดยเฉพาะนักศึกษาเรียนครูปีที่ 5 ต้องไปฝึกสอน ระหว่างนักเรียนโครงการกองทุนการศึกษา และโรงเรียนทั่วไป เพื่อจะได้ดูว่าระบบการจัดการเรียนการสอนนั้น จะต้องมีการปรับปรุงอย่างไร”

ดังนั้น “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” จึงได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาการผลิตครูเพื่อให้มีคุณภาพ พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับเยาวชน จาก รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

“การจะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ครูถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การผลิตครู หากจะพูดว่ามีการเอาจริงเอาจังหรือไม่ ต้องย้อนไปถึงสมัยเมื่อประมาณ 60 กว่าปี คนที่เรียนเก่งๆ มักจะมาเป็นครู ซึ่งองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ พูดลักษณะของการผลิตครูในสมัยอดีตที่ผ่านมา ที่มีโรงเรียนฝึกหัดครู

ซึ่งเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตครู แล้วก็คัดเลือกเด็กที่ยากจนและไม่สามารถเรียนต่อแพทย์ได้ ซึ่งถือเป็นเด็กที่เรียนเก่ง เราถึงได้คนเก่งมาเป็นครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง โดยมีการหล่อหลอมวิชาชีพครูมาในลักษณะนั้น

ถ้าเปรียบเทียบปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่า คนที่มาเรียนครู คิดว่าไม่เก่ง ไม่สามารถเรียนต่อสาขาอื่นๆ ก็มาเรียนครู จบง่ายดี ก็หันมาเรียนครูกันมาก ซึ่งเป็นมาตั้งแต่เป็นวิทยาลัยครู ที่มีการรับนักศึกษาภาคค่ำ หรือเรียนเสาร์-อาทิตย์

ในสมัยนั้นอยากให้มีครูมากๆ เพียงพอ โดยเน้นปริมาณเป็นตัวตั้ง ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนหน้านั้น คนที่จะมาเรียนครูได้จะต้องมีโควตาคุมอยู่ว่า เป็นคนเก่งแต่ละจังหวัด มีจำนวนเท่าไหร่ให้เข้ามาเรียน

จากนั้นก็มาเป็นเรื่องของกระบวนการผลิตครู เมื่อก่อนการผลิตครู โดยเฉพาะครูชนบท จะต้องมาเรียนโรงเรียนฝึกหัดครู ก็จะต้องอยู่หอพักเป็นการสอนคนให้เป็นครูตลอด 24 ชั่วโมง พอเปลี่ยนมาเป็นวิทยาลัยครู และพัฒนาเป็นสถาบันราชภัฏ ก็มุ่งเน้นปริมาณ นักเรียนที่มาเรียนครูและอยู่หอพักเริ่มไม่ค่อยมีแล้ว นักศึกษาเรียนครูจะไปเช้า เย็นกลับ หรือไม่ก็เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์

เป็นการเร่งรัดและสอนเรื่องวิชาการมากกว่าหล่อหลอมคนเป็นครูแบบสมบูรณ์หรือเต็มตัว จิตวิญญาณของความเป็นครูจึงไม่ค่อยมี ผลิตออกมาเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ทั่วไป ประกอบกับเราไม่ได้คนเก่งมาเรียนด้วยส่วนหนึ่ง เพราะนโยบายหรือยุคสมัยเปลี่ยนไป

เมื่อกระบวนการผลิตครูอาจจะไม่ได้คุณภาพเต็ม 100 เหมือนเมื่อก่อน รวมถึงการสอบคัดเลือกบรรจุคนไปเป็นครูจริงๆ รับราชการหรือทำงานต่างๆ พอขาดมากก็มีระบบเส้นสาย การทุจริตเข้ามา

เราต้องยอมรับคนทุจริตถือเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด แต่ปัจจุบันกลับคิดกันว่าถ้าทุจริตได้ขอให้เกิดผลประโยชน์กับตัวเอง จึงทำทุกวิถีทาง

ถ้าเป็นรุ่นก่อนๆ สอบบรรจุครู คือ คนที่มาเรียนครูต้องเป็นคนเก่งสอบได้ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ของจังหวัดในสมัยก่อน ต่อมาปัจจุบันการสอบบรรจุครูและได้ครูมา หลายคนสงสัยว่า อาจจะเป็นคนที่มีเงินมากหรือไม่ และสามารถจะซื้อข้อสอบการสอบบรรจุครูอย่างที่เป็นข่าวว่า ข้อสอบรั่วหรือมีการทุจริต

ซึ่งเริ่มจากตรงนี้ และการที่ได้คนมาเป็นครู ก็ไม่ได้คนเก่ง มีจิตวิญญาณ แต่ซิกแซกเข้ามา เล่นเส้น เล่นสาย เพื่อความมั่นคงของตัวเอง และครอบครัวมีหน้าตาในสังคม พอได้คนมาเป็นครูและเข้าไปทำงานในโรงเรียน ก็พยายามที่จะถอนทุนคืนจากที่เสียไป ก็เป็นคอรัปชั่นอีก”

รศ.ดร.สุขุมกล่าวต่อว่า “เมื่อก่อนเรามีความภาคภูมิใจว่า โรงเรียนฝึกหัดครู ฝึกครูจริงๆ มีบุคลากร สภาพแวดล้อม มีหลักสูตรค่อนข้างชัดเจน แต่ตอนหลังค่านิยมของการเป็นมหาวิทยาลัยที่จะต้องเปิดสอนหลายสาขาต่างๆ ทำให้การละทิ้งหน้าที่เดิม การจะไปขวนขวายเปิดสอนสาขาอื่นๆขึ้นมา ตรงนี้ทำให้การเน้นเรื่องผลิตครูด้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน

และสิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ ระบบการสอนไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่จะฝึกทั้งร่างกาย จิตใจ สมอง ฝึกสอนก็แบบจริงจัง แต่ปัจจุบันการฝึกสอนต่างๆ เป็นเพียง พิธีกรรม เพื่อให้ผ่านๆ ไป โดยจะต่างจากการฝีกสอนแบบเมื่อก่อน ถ้าไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน ไม่มีการเอื้ออะไร ตกคือตก

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ท่านได้เห็นภาพรายงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยนำเสนอท่าน และท่านคลุกคลีและให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตครูอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านก็ฉลาดที่ไม่อยากจะบอกว่า ให้ไปผลิตเหมือนเดิม เพราะย้อนยุคไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าย้อนยุคไม่ได้แล้วจะหมดหนทาง

แต่วิธีการสำคัญคือ ให้ศึกษาถอดบทเรียนในอดีตว่าทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่บอกว่าโลกก้าวหน้าแล้วจะให้การผลิตครูเหมือนเดิม คำว่า เหมือนเดิม มีอย่างเดียวจะต้องผลิตครูให้ได้ตัวครูที่มีสมองดี มีปัญญาดี และมีความเป็นครูในจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องของจิตใจสำคัญที่สุด

ถ้าจิตใจไม่ได้ ก็ไม่พร้อมเป็นครู ดังนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาชีพครูจะต้องมีเรื่องของจิตวิญญาณความเป็นครูใส่เข้าไปด้วย แต่ก็เป็นเพียงทฤษฎี จะไปวัดค่อนข้างยาก เพราะเป็นเรื่องของนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งตรงนี้ผมย้ำเสมอว่า ต้องมีการฝึกปฏิบัติ ฝึกสอนต้องฝึกสอนจริงๆ ไม่ใช่การฝึกสอนเพื่อไปสอนเรื่องความรู้ให้กับเด็กอย่างเดียว

แต่ต้องสอนให้เขาลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ทำกิจกรรมต่างๆ การร่วมพิธีกรรม การเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนนั้นๆ ว่าอ่อนอะไร ด้อยอะไรบ้าง อะไรที่ดีอยู่แล้ว ครูก็ต้องเรียนรู้ในส่วนนั้นด้วย

ผมไม่ปฏิเสธพวกเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา ครูต้องมีความคิดประยุกต์ ซึ่งมีครูหลายคนบอกว่า เอาอะไรก็ได้ง่ายๆ ไว้ก่อน ไม่ว่าเรื่องการทำผลงาน ไปจ้างเขาทำ ซึ่งตรงนี้เป็นการก่อหนี้ทั้งนั้น

เริ่มต้นจากกระบวนการคิด ถ้าคิดไม่เป็น เช่น การจะได้ตำแหน่งทางวิชาการ วิทยฐานะต่างๆ ก็ไปคิดว่ามีคนทำให้ ไปจ้างเขา จะได้ไม่ต้องเสียเวลา ถ้าคิดแบบนี้ แค่คิดก็เป็นหนี้แล้ว ดังนั้น กระบวนการเป็นหนี้ของครู จึงเกิดจากการคิดไม่เป็น คิดผิด

ความจริงแล้วสิ่งต่างๆ ที่พูดมายังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ครูบางคนอ้างนโยบายที่ออกมาบอกให้เด็กคิดเอง ซึ่งตรงนี้ครูก็ต้องมีการชี้แนะแนวทาง เพราะการคิดแบบเด็ก กับคิดแบบครู ย่อมแตกต่างกันอยู่แล้ว ครูที่เรียนมาจนจบปริญญาตรีและเข้ามาสอนเด็ก ก็เพื่อให้คิดเป็น สอนเป็น ชี้แนะเด็กได้ ไม่เช่นนั้นจะบอกทำไมว่า การคิดของคนแต่ละวัย ย่อมคิดแตกต่างกัน

ครูซึ่งผ่านประสบการณ์ ได้รับการฝึกฝน การฝึกอบรมมา มีกระบวนการต่างๆ ผ่านมามาก ต้องเล่าให้เด็กฟัง ไม่ใช่ไปคิดแทนเด็ก แต่ในความคิดของครูต้องคิดแบบชี้แนะแนวทางต่างๆ แต่ไม่ได้ให้ครูชี้นำ ให้เด็กได้คิดต่อ ถ้าเป็นแค่ความคิดของเด็กก็จะคิดแต่ตัวเองเท่านั้น

เหมือนกับครูปัจจุบันจำนวนหนึ่งที่คิดเพื่อตัวเอง จะได้วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ หรือได้เชี่ยวชาญ ถ้าคิดแค่นี้ก็คิดไม่ต่างจากเด็กเลย คิดอยากได้ พออยากได้ก็ต้องหาเงิน จนวนมาเป็นหนี้สิน”

รศ.ดร.สุขุม กล่าวด้วยว่า “การที่องคมนตรีพูดถึงเรื่องการวิจัย แต่ครูไม่ได้เรียนวิจัยมา ไม่เคยทำวิจัยมา พอพูดถึงเรื่องวิจัย ก็ตกใจ ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฎควรที่จะทำในเรื่องอย่างนี้ออกมา ซึ่งการที่องคมนตรีพูดลักษณะนี้หมายความว่า ทำอะไรก็ตามต้องมีกระบวนการคิดเป็นระบบ มีการวิเคราะห์ พิจารณา เลือกสรร เปรียบเทียบ อันนี้แหละคือการวิจัย

อย่าไปคิดว่า จะต้องเอาสถิติอะไรต่างๆ เข้ามา หากทำได้อย่างที่ผมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ สามารถทำได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของวิทยาลัยครูในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัดก็ได้

คือผลิตครูที่ออกไปสอนเด็กแล้วสังเกตไปด้วยว่า เด็กเป็นอย่างไร เมื่อเราสอนวิชานี้ เราสอนแบบนี้ เด็กสนใจหรือไม่ ครูก็ต้องทำบันทึกไว้ และตอนการประเมินการฝึกสอนก็จะต้องมีการถามถึงร่องรอยต่างๆ ว่า เด็กทำอะไรไว้บ้าง จะต้องมีการประเมินตรงนี้” ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวทิ้งท้าย