“เสมา 1” ประชุมแก้ กม.ระเบียบข้าราชการครูฯ อุดช่องโหว่คดีวินัย ขรก.ล่าช้า โยกอำนาจอนุมัติตั้ง-ย้าย “ครู-ผู้บริหาร ร.ร.” ผุด อ.ก.ค.ศ.สพฐ.


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ตนได้มอบหมายให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (อ.ก.ค.ศ.สพฐ.)

และแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ให้ตรงกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำสั่งที่ 10/2559 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) และคำสั่งที่ 11/2559 เรื่องการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (ศธภ.) และแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) 

รวมทั้งไปดูกฎหมายในหมวดที่เกี่ยวกับวินัยและการลงโทษว่า มีปัญหาและช่องว่างใดที่ต้องปรับแก้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การพิจารณาโทษข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีการดำเนินคดีล่าช้า และหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ดังนั้นจะต้องมีการปิดช่องว่างในส่วนนี้

รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯนั้น ในร่างใหม่จะมีการโอนอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเดิม ให้ กศจ. ส่วนที่จะมีการแต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ.สพฐ.ขึ้น เพราะที่ผ่านมา ก.ค.ศ.สั่งโน่นสั่งนี่ข้ามหัว สพฐ.ไปหมด ทั้งๆ ที่เป็นบุคลากรของ สพฐ. การบริหารงานบุคคลก็ควรเป็นหน้าที่ของ สพฐ.

แต่คณะกรรมการ ก.ค.ศ.ก็ยังเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบาย เหมือนเดิม โดยการดำเนินงานของ อ.ก.ค.ศ.สพฐ.จะยังต้องปฏิบัติตามกรอบที่ ก.ค.ศ.กำหนด

ทั้งนี้ การทำงานของ อ.ก.ค.ศ.สพฐ.เป็นคนละส่วนกับคณะอนุกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (อกศจ.) โดย อ.ก.ค.ศ.สพฐ.จะทำหน้าที่พิจารณาอนุมัติตามที่ ก.ค.ศ.มอบหมาย อาทิ อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งเดิมต้องส่งให้ ก.ค.ศ.อนุมัติ ต่อไปนี้ ก.ค.ศ.ก็จะมอบอำนาจให้ อ.ก.ค.ศ.สพฐ.เป็นผู้อนุมัติแทน 

ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายครู ก็จะพิจารณาตามวิทยฐานะ อาทิ วิทยฐานะชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ การพิจารณาให้สิ้นสุดที่ กศจ. ส่วนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ก็ให้สิ้นสุดที่ อ.ก.ค.ศ.สพฐ.แทน รวมถึงการพิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด สพฐ.ด้วย

นอกจากนี้ ในเรื่องการเปิดสอบบรรจุข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ควรเขียนเปิดช่อง เพื่อให้สามารถดำเนินการสอบบรรจุจากส่วนกลาง ลักษณะเดียวกับการสอบรับข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

“หากเรื่องใดไม่สามารถระบุไว้ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯได้ ก็จะต้องเขียนไว้ในกฎหมายลูกที่ต้องออกมาพร้อมกัน โดยผมได้กำชับนายพินิจศักดิ์ว่า การเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แนบกฎหมายลูกว่า มีกี่ฉบับไปพร้อมๆ กันด้วย” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว