“อาจารย์ราชภัฏภูเก็ต” รับรางวัลพระราชทาน! ประกวดสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท


ชมรมสื่อบ้านนอก และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริฯ จัดพิธีมอบรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวด "สื่อเพื่อการพัฒนาชนบท" ครั้งที่ 1 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้

โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เป็นประธานในพิธีรับรางวัลพระราชทาน ร่วมด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการตัดสินรางวัล ตลอดจนผู้ส่งผลงานเข้าประกวด และประชาชนเข้าร่วม

สำหรับโครงการประกวดดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนไทยตระหนักในคุณค่าของชนบท ตลอดจนลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของความเข้าใจกันระหว่างคนชนบทกับคนเมือง มีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จำนวน 250 คน มีจำนวนชิ้นงานส่งประกวด 480 ชิ้นงาน

แบ่งเป็นประเภทภาพถ่าย ประเภทสารคดีเชิงข่าวและคลิปวิดีโอ ประเภทบทความและสารคดี และประเภทความเรียงเยาวชน โดยหนึ่งในผลงานที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ คือ บทความ “วิถีชนบทไทย แง่งามท่ามกลางการพัฒนา” ของ นางสาวสุธาสินี นิรัตติมานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทบทความ

นางสาวสุธาสินี เจ้าของรางวัล กล่าวว่า โครงการประกวด “สื่อเพื่อการพัฒนาชนบท” เป็นการประกวดเพื่อลดช่องว่างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่าง “บ้านนอก” กับ “เมือง” และสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่าง “คนบ้านนอก” กับ “คนเมือง” ซึ่งล้วนมีเป้าหมายให้สื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของชนบทมากขึ้น

“รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ แต่เหนือกว่ารางวัลคือโอกาสที่ได้รวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านตัวอักษร สำหรับบทความเรื่องวิถีชนบทไทย แง่งามท่ามกลางการพัฒนา คือการสะท้อนทัศนะของการพัฒนาชนบทและสังคมเมืองอย่างยั่งยืน เป้าหมายสำคัญคือ การต้องเริ่มต้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” นางสาวสุธาสินีกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีถ้อยแถลงของคณะกรรมการตัดสินบทความโดย ศาตราจารย์สกุล บุณยทัต ที่ได้เขียนลงในหนังสือรวมผลงานรางวัลสื่อเพื่อการพัฒนาชนบท ได้กล่าวถึงบทความเรื่อง “วิถีชนบทไทย แง่งามท่ามกลางการพัฒนา” ว่า

“มองโลกในแง่งามผ่านการพินิจพิเคราะห์ชนบทอย่างมีต้นรากของความมีความเป็น มีการเสนอแนะทางออกอันชวนขบคิด สดใหม่และเห็นภาพพจน์จนเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในเชิงวิชาการและกระบวนการคิดที่มีเอกภาพ และสามารถนำไปปฏิบัติการณ์ได้อย่างถ่องแท้...

การก่อเกิดมุมมองในการส่องเห็นปรากฏการณ์ทั้งภายในภายนอกอย่างถ้วนถี่ ทำให้ผลงานที่ได้รับการยกย่องมีคุณค่าทั้งต่อตัวผู้เขียนเอง และต่อความเป็นไปในการพลิกด้านมืดของชนบทให้ออกมาสู่แสงไฟแห่งการก้าวไปสู่อนาคตอันเรืองรุ่งได้จริง”