พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

สุขทั้งแผ่นดิน ช่วงต้นเดือน  มิย.59  ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงานกปร.)จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ รุ่นที่ 6 ครั้งที่ 2  โดยนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศที่ได้รับคัดเลือก  ในคราวนี้จำนวนร้อยคนเข้าร่วมกิจกรรมการสัมผัสหลักการทรงงาน  พระราชกรณียกิจ  พระบรมราโชวาท  พระราชดำรัสเพื่อซึมซับพระมหากรุณาธิคุณผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ส่งผลให้ประชาชนที่เดินรอยพระยุคลบาทที่พระราชทานแนวทางให้นำไปปรับปรุงประยุกต์ในการประกอบอาชีพดำเนินชีวิตประสบผลตามเป้าหมายที่มุ่งหวังคือความสุขอย่างยั่งยืน  โดยนำไปศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดสกลนคร

เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและขยายผลสืบสานสู่คนรอบข้าง  ชุมชนและคนทั่วไปตามวาระโอกาส

สุขทั้งแผ่นดิน นอกจาการศึกษาเรียนรู้สัมผัสผลพวงอันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ  สำนักงานกปร.ได้นำนักศึกษาไปสัมผัสผลสำเร็จจากการเดินตามแนวพระราชดำริของประบ้านในจังหวัดใกล้เคียงสกลนคร เช่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในชุมชนรอบๆศูนย์ศึกษาฯภูพานฯ 

จุดหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้  บ้านหนองแข้  ตำบลตองโขบ  อำเภอโคกศรีสุพรรณ  สกลนคร

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สืบสานผ้าไหมสนองพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ  ที่ทรงส่งเสริมหผลผลิตจากฝีมือถักทอของชาวบ้านที่มิใช่เป็นชิ้นงานเพียงเพราะฝีมือสืบสานจากภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ไว้เป็นมรดกที่สามารถทำได้เองเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน  หากแต่การถักทอดจนสำเร็จเป็นผืนผ้านั้นเชื่อมประสานเอาหัวใจรักถ่ายเทเข้าผสมผสานสายใยแห่งเส้นไหมเข้าไปด้วย

ผมโชคดีที่มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับคณะนักศึกษาไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้พบเข้ากับลูกสาวป้าทุ้ม  แสงวงศ์  นางสมพันธ์  ปาละคะอายุ  55  ปีที่ไปรอให้ข้อมูลเยาวชนบอกว่าพิพิธภัณฑ์เกิดจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและราษฎรบ้านหนองแข้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมราชินีนาถที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรหลายร้อยบ้านในอำเภอโคกศรีสุพรรณและในภาคอีสาน  หนึ่งในจำนวนนั้นคือบ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้  โดยมิได้ทรงมีกำหนดการล่วงหน้าถึง  3  ครั้งในพศ.2521  พศ.2523และพศ.2525  ทรงถามไถ่ทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด โดยในวันเปิดท่านผู้หญิงจรุงจิตต์  ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถมาเปิด

สุขทั้งแผ่นดิน นางสมพันธ์บอกว่า  สมเด็จพระบรมราชินีนาถยัง ทรงให้ฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมืองของไทยและการทอผ้าไทย  ทรงรับราษฎรบ้านหนองแข้เป็นสมาชิกศิลปาชีพเพื่อให้มีรายได้เสริมจากการทอผ้า  รวมทั้งพระราชทานฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ให้นางไท้  แสงวงศ์ไว้เป็นต้นแบบอนุรักษ์ลวดลายโบราณ

“ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนปลื้มกันมาก  ภูมิใจกันมากนับเป็นสิริมงคลโดยเฉพาะคนบ้านหนองแข้  ตำบลตองโขบ  เพราะทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมเยียนราษฎรถึงหมู่บ้านเลย”นางสมพันธ์บอกน้ำเสียงตื้นตัน

นางสมพันธ์  ปาละคะลูกสาวยายทุ้มบอกอีกว่า  ครั้งแรกที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จฯมา  (ปี2521)อายุ 17  กำลังฝึกทอผ้ายังไม่เก่ง จำได้ว่าฝึกทอลายโบราณคือลายซุ้มใหญ่ วันที่พระองค์เสด็จฯมายายไท้กำลังจะหาน้ำให้วัวอยู่พอดีเลย วันนี้ชาวบ้านยังทอผ้ากันอยู่เป็นอาชีพคู่กับทำนา  ทอบ้านใครบ้านมัน  3  เดือนก็เอามารวมไปให้ศูนย์ของพระราชินี(ศูนย์ศิลปาชีพ)  

ตามบันทึกว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ภาคอีสาน)เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2498 ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ ทรงเห็นว่าชาวบ้านมีฝีมือในงานหัตถกรรมอยู่แล้ว จึงมีพระราชดำริส่งเสริมอาชีพให้แก่ชาวบ้าน เพื่อมีรายได้ทดแทนกรณีที่ผลผลิตทางการเกษตรต้องเสียหาย ไม่ได้ผล อันเนื่องจากภัยธรรมชาติ

สุขทั้งแผ่นดิน

 ระยะแรกพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ แล้วทรงรับซื้อเอาไว้ เป็นการสนับสนุน ฟื้นฟู และพัฒนาฝีมือการทอในเบื้องต้น เมื่อดำเนินการส่งเสริมอาชีพไประยะหนึ่ง ก็ได้มีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  แล้วที่ประจักษ์สายตาประชาชนทั่วไปฉลองพระองค์ส่วนใหญ่ยังเป็นชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไหมไทย โดยเฉพาะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินในงานพระราชพิธีต่างๆ ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตัดเย็บจากผ้าไหมฝีมือชาวบ้านทุกองค์ รวมถึงฉลองพระองค์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ ที่ทำให้ชาวต่างชาติได้เห็นความสวยของผ้าไหมไทย

            ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2518 สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯมาที่โรงเรียนร่มเกล้า ตำบล ตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร พระองค์ทอดพระเนตร เห็นผ้าไหมที่ป้าไท้ ราษฏรบ้านหนองแข้สวมใส่ พระองค์ทรงรับสั่งถามซื้อผ้าไหมนั้น ป้าไท้ จึงตอบว่าขายไม่ได้เพราะว่าใส่มาแค่ผืนเดียว จากนั้นพระองค์ทรงตรัสถามว่าที่บ้านมีอีกหรือไม่ ป้าไท้จึงตอบว่าที่บ้านมีผ้าไหมอีกหลายผืน พระองค์จึงรับสั่งว่าวันหน้าฉันจะไปซื้อนะ

 

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่ได้เดินทางไปเปิดพิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2515  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีรับสั่งให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านและชวนให้ทอผ้าเพื่อทรงรับซื้อ ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำนาทำไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรบ้านหนองแข้ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร มีรับสั่งถามไถ่ทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด ทรงฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมืองของไทยและการทอผ้าไทย ทรงรับราษฎรบ้านหนองแข้เป็นสมาชิกศิลปาชีพ เพื่อให้มีรายได้เสริมจากการทอผ้า และอนุรักษ์ลวดลายผ้าไทย

 

        “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรบ้านหนองแข้เป็นการส่วนพระองค์ถึง 3 ครั้ง ในปี 2521, 2523 และ 2525 เพื่อพระราชทานกำลังใจในการทอผ้าไหม และประทับอยู่ที่ชานเรือนเป็นเวลานานจนมืดค่ำ ทรงไต่ถามเรื่องความเป็นอยู่ และพระราชทานฉลองพระองค์คลุมไหมมัดหมี่สีม่วง เพื่อเป็นแบบให้แก่นางไท้ทอผ้า ซึ่งภายหลังนางไท้ได้เชิญฉลองพระองค์นั้นไว้บนหิ้ง และบูชาด้วยดอกไม้มหาหงส์ตามประเพณีของชาวอีสานด้วยความผูกพันและความจงรักภักดี ฉลองพระองค์ดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยยืมไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปาชีพ พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน ในนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดแสดงเรื่องราวของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กับป้าทุ้มป้าไท้ และพระมหากรุณาธิคุณทีี่ทรงมีต่อราษฎรบ้านหนองแข้” รองราชเลขานุการในพระองค์ฯ ให้รายละเอียด