6 หน่วยงานผนึกพลัง! ยกระดับสุขภาพเด็กพิการทั่ว ปท.


ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา (กพฐ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

เพื่อขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเด็กพิการในชุมชนทั่วประเทศ” โดยความร่วมมือครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่รัฐบาลมีความตั้งใจและต้องการให้บุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษทุกคน ได้รับและเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

รวมทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีนโยบายให้ปี พ.ศ.2559 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

โดยมอบหมายให้สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. จัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการ โดยจะต้องดูแลเด็กพิการในทุกช่วงวัย และให้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาดูแลในมิติอื่นๆ อาทิ สุขภาพ การพัฒนาคุณภาพชีวิต

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเด็กพิการในชุมชนทั่วประเทศ จะเน้นให้เด็กพิการได้รับการตรวจสุขภาพอย่างมีคุณภาพและเป็นระบบ โดยจะมีการพัฒนาเครื่องมือการตรวจคัดกรองสุขภาพ การฝึกอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา รวมถึงการดูแล รักษาและติดตามการตรวจสุขภาพสำหรับเด็กพิการ

ทั้งนี้ ระหว่างปี พ.ศ.2559-2560 องค์การยูนิเซฟจะสนับสนุนทั้งด้านวิชาการและงบประมาณ โดยจะนำร่องในศูนย์การศึกษาพิเศษ 8 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภาคๆ ละ 2 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน, ภาคกลาง จ.จันทรบุรี ลพบุรี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา อุดรธานี และภาคใต้ จ.ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี 

ขณะเดียวกันภายในปี พ.ศ.2560 จะขยายโครงการตรวจสุขภาพไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษให้ครบทั้ง 77 จังหวัด ด้วย

ด้าน นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า เด็กพิการเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสที่สุดในทุกสังคมทั่วโลก ทั้งต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆ ในการเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพและด้านการศึกษา

การที่องค์การยูนิเซฟต้องการร่วมมือกับภาคีทั้ง 5 องค์กร เพื่อส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงความต้องการของเด็กพิการมากขึ้น สนับสนุนให้นักวิชาชีพด้านสาธารณสุข บุคลากรครู ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และชุมชน เข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาวะและมีความรู้ ทักษะเพียงพอที่จะดูแลเด็กพิการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม