“เลขาฯอาชีวะ” ขานรับ!หัวหน้า คสช.ออกคำสั่ง ม.44 แก้ปัญหา น.ร.-น.ศ.ก่อเหตุวิวาท พ่อแม่-ผู้ปกครองต้อง!ร่วมรับผิดชอบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 30/2559  เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2559

ใจความว่า “ปัญหาการทะเลาวิวาทของนักเรียน นักศึกษาก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสังคม แต่เนื่องจากมาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินการ

เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของเด็กนักเรียน นักศึกษา จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและจัดระเบียบสังคม

จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีคำสั่งดังต่อไปนี้

1.ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ ตามหมวด 7 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มีอำนาจกักตัวนักเรียน นักศึกษาที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือเตรียมการเพื่อก่อเหตุดังกล่าว เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 6 ชั่วโมง เพื่อนำส่งเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้บริหารโรงเรียน หรือสถานศึกษา บิดามารดา หรือผู้ปกครอง แล้วแต่กรณี

2.บิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรม สั่งสอน และยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก

ตลอดจนต้องไม่สนับสนุนหรือปล่อยปละละเลย ให้เด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียน และนักศึกษาในปกครอง รวมกลุ่มเพื่อก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือเตรียมการเพื่อก่อเหตุดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ติดตามและสอดส่องให้มีการดำเนินการอย่างเคร่งครัด

ในกรณีที่พบเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียนและนักศึกษา รวมกลุ่มเพื่อกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาแล้วแต่กรณี และให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่จะแจ้งให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เข้ามารับทราบการกระทำของเด็กและเยาวชน ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาดังกล่าว

เพื่อให้คำแนะนำ ตักเตือน ทำทัณฑ์บน หรือวางข้อกำหนดเพื่อป้องกันมิให้กระทำผิดอีก หรืออาจให้วางประกันไว้เป็นจำนวนเงินตามสมควรแก่ฐานานุรูป แต่จะเรียกเงินประกันไว้ได้ไม่เกินระยะเวลา 2 ปี หากเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาได้กระทำความผิดดังกล่าวซ้ำอีก ให้ริบเงินประกันเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองเด็ก

3.ผู้ใดกระทำการอันเป็นการยุยง ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้นักเรียน หรือ นักศึกษา ฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้นักเรียน หรือนักศึกษาไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ผู้นั้นต้องระวางโทษไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต เพราะการทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายร่างกายนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.ให้โรงเรียนและสถานศึกษา มีหน้าที่จัดให้มีกิจกรรมในการแนะแนว เพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน และนักศึกษาทะเลาะวิวาท โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกวดขันและเร่งรัดจัดทำมาตรการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียน และนักศึกษาให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการลดปัญหาสังคมโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ คำสั่งนี้ใช้บังคับตั้งแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”

ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวทำให้เห็นว่า หัวหน้า คสช.ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา นักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาท และน่าจะทำให้เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“ผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษาจะมีความมั่นใจที่จะมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้นมากขึ้น” เลขาธิการ กอศ.กล่าว