นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ติดตามงานพัฒนาหนองใหญ่ ( แก้มลิง ) ตามพระราชดำริจังหวัดชุมพร

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม

            วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมานายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี นายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(รองเลขาธิการ กปร. )พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาหนองใหญ่(แก้มลิง)ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

           สุขทั้งแผ่นดิน  เมื่อไปถึงพื้นที่โครงการองคมนตรีและคณะได้รับฟังการบรรยายสรุปแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ปี 2540  ที่พระราชทานความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและพระราชทานพระราชทรัพย์จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในการขุดลอกคลองให้แล้วเสร็จภายใน1 เดือนจากความร่วมมือของทุกหน่วยงาน

            พระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้นส่งผลให้ชาวจังหวัดชุมพรไม่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอีกเลยตลอดระยะเวลาเกือบ20 ปีที่ผ่านมาราษฎรชาวชุมพรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ได้รวบรวมเงินถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเดือนธันวาคม ของทุกปีมาอย่างต่อเนื่อง

            ในโอกาสนี้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ได้มอบพันธุ์มะพร้าวกระทิพันธุ์ลูกผสมชุมพร  81  -1  ให้แก่ราษฎรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวน 20 ต้น และร่วมกับข้าราชการและประชาชนปล่อยพันธุ์ปลาแก้มช้ำและปลาตะเพียนขาว จำนวน 69,999 ตัว สู่หนองใหญ่เพื่อขยายพันธุ์ให้ชาวบ้านได้มีอาหารไว้บริโภคอย่างสมบูรณ์ต่อไป  จากนั้นได้ ปลูกต้นราชพฤกษ์ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต่อไป

           สุขทั้งแผ่นดิน  จากการดำเนินงานสนองพระราชดำริดังกล่าวนี้ สำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการและกิจกรรมตั้งแต่เริ่มดำเนินการ รวม 102,791,843 บาท เกิดผลสัมฤทธิ์ทำให้สามารถป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียงนับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในการดำรงชีวิต และเพิ่มความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำสำรองที่สามารถทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ มีแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภค ตลอดจนสามารถผลักดันน้ำเค็มที่จะรุกล้ำเข้าสู่คลองท่าตะเภาได้เป็นอย่างดี

            นอกจากนี้แก้มลิงหนองใหญ่ตามพระราชดำริยังเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิด  เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เหมาะแก่การพักผ่อนและเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานและบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต มีแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริใช้ชื่อ “ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา” จำนวน 34 ไร่ โดยในช่วงเดือนกันยายน ของทุกๆ ปี ได้จัดงานประเพณี ประกอบด้วย การแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธงพระราชทาน กิจกรรมตามศาสตร์พระราชา จากภูผา สู่มหานที กิจกรรมส่งเสริมการเกษตรของราษฎร กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งนี้เพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวชุมพร อีกด้วย

พระราชดำริ

สุขทั้งแผ่นดิน หลังจากเกิดอุทกภัยหนักเนื่องจากพายุโซนร้อนซีต้า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2540 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวชุมพรเป็นล้นพ้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวชุมพรเป็นอย่างยิ่ง ทรงทราบถึงภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชาวชุมพรในอนาคต โดยมีพระราชดำริให้เร่งรัดขุดคลองหัววัง – พนังตัก ที่ค้างอยู่ 1,460 เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยได้พระราชทานทุนทรัพย์จากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 18 ล้านบาท เพื่อให้กรมชลประทานยืมไปดำเนินการก่อน และอีกส่วนหนึ่งได้รับจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เพื่อใช้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งรัดดำเนินการจนแล้วเสร็จ และสามารถใช้ระบายน้ำได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนพายุลินดาเข้าเพียง 1 วัน ทำให้ชาวชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานดำรัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลโดยมีพระราชดำริ

สุขทั้งแผ่นดิน...ให้หนองใหญ่เป็นแก้มลิงธรรมชาติ เพื่อเป็นที่สำหรับรับน้ำจากคลองท่าแซะมาเก็บไว้ก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าตะเภา และเมื่อมีปริมาณมากก็จะค่อยๆ ระบายลงสู่คลองหัววัง – พนังตัก เพื่อระบายออกสู่ทะเล นอกจากนี้ยังใช้เป็นพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย....”

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน คือ

ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฏรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง

ควรจัดตั้งสถาบันวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตัก ทิ้งลงทะเลเป็นการล่วงหน้าเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองลงมาใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่แล้วทยอยระบายน้ำทิ้งทะเลมีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วจึงค่อย ๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร

ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุเพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฏรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร และอุปโภค บริโภคและในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายน้ำทิ้งทะเลผ่านทางคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตักได้อีกด้วย

ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2, และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาที่ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรลงได้ระดับหนึ่ง

สุขทั้งแผ่นดิน ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก (ด้านท้ายคลองท่าแซะบรรจบกับคลองรับร่อ) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับเมืองชุมพร

และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร ณ ศาลาดุสิดาลัยพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เกี่ยวกับโครงการแก้มลิงหนองใหญ่เพิ่มเติม

...โดยให้พิจารณาขุดคลองละมุ ให้เชื่อมคลองท่าแซะกับหนองใหญ่เพื่อช่วยแบ่งน้ำจากคลองท่าแซะลงสู่หนองใหญ่ จากนั้นเมื่อระดับน้ำในคลองหัววัง – พนังตักลดระดับลงจึงค่อย ๆ ปล่อยน้ำจากหนองใหญ่ระบายลงคลองหัววัง – พนังตักและไหลลงสู่ทะเล...”

ในการดำเนินงานสนองพระราชดำริดังกล่าวนี้ สำนักงาน กปร. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการและกิจกรรมตั้งแต่เริ่มดำเนินการ รวม 102,791,843 บาท เกิดผลสัมฤทธิ์ทำให้สามารถป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียงนับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในทรัพย์สินและการดำรงชีวิต เพิ่มความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำสำรองที่สามารถทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ มีแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาการอุปโภค บริโภค สามารถผลักดันน้ำเค็มที่จะรุกล้ำเข้าสู่คลองท่าตะเภาได้เป็นอย่างดี นอกจานี้ยังเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิด เหมาะแก่การพักผ่อนและเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ

จากการดำเนินงานและบูรณาการกับหน่วยงานภาคเอกชน มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต มีแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงใช้ชื่อ “ศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา” บนพื้นที่จำนวน 34 ไร่ โดยในช่วงเดือนกันยายน ของทุกๆ ปี ได้จัดงานประเพณี ประกอบด้วย การแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธงพระราชทาน กิจกรรมตามศาสตร์พระราชา จากภูผา สู่มหานที กิจกรรมส่งเสริมการเกษตรของราษฎร กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทั้งนี้เพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวชุมพร