คลิก! หาตัวจำเลย ต้นตอเด็กไทยสอบตกโอเน็ตวิชาคณิต-วิทย์ทุกปี!!


จากกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด ถึงความล้มเหลวในคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนจากผลคะแนนการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่นักเรียนทั่วประเทศโดยเฉลี่ยสอบตกคะแนนได้ไม่ถึงครึ่ง (50 คะแนน) ทุกปี

แม้แต่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังถึงกับเอ่ยปากช่วงก่อนหน้านี้ว่า “ผลคะแนนสอบของนักเรียนที่ออกมา ไม่ต่างอะไรกับการเดา”

ดังนั้น “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” จะพยายามเกาะติด! เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่า เกิดจากตัวนักเรียนสมองไม่ฉลาดพอ หรือครูผู้สอนไม่เก่งพอ หรือว่าเกิดจากตำราเรียนของกระทรวงศึกษาฯ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 

เริ่มต้นบทสัมภาษณ์แรกนี้กับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในมุมมองของผม น่าจะเกิดจากตัวครูผู้สอนเป็นหลักมากกว่า ว่าเชี่ยวชาญ รู้จริงและรู้ลึกในเนื้อหานั้นหรือไม่ ก่อนที่จะมาถ่ายทอดหรือสอนเด็ก ส่วนตำราเรียนของ สสวท.ที่เขียนไว้นั้น ผมมองว่าค่อนข้างเป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว เพียงแต่เราใช้เป็นเครื่องมือสอนไปได้ถึงอุดมคติหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นและพูดกันมากคือ บ้านเราไม่มีวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ ไม่มีการทดลองความเป็นตรรก ความเป็นเหตุเป็นผลเป็น หรือความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์

ลักษณะบ้านเราจึงเป็นการเรียนการสอนแบบล้าหลัง ตกยุคที่พัฒนาไม่ขึ้น เข็นขึ้นยาก เริ่มจากวงการวิชาชีพครู คือ คนที่มาเรียนไม่ได้ใส่ใจที่จะมาเป็น ครูวิทยาศาสตร์ ครูคณิตศาสตร์ ครูเคมี ครูฟิสิกส์ มีน้อยมาก เพราะเรียนยาก จบยาก หาคนที่มาเป็นครูวิทยาศาสตร์จริงๆ เปอร์เซ็นต์ต่ำมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นจุดอ่อนของประเทศในการพัฒนาวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แม้ว่าจะมีการไปแข่งขันที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รางวัลมา แต่ก็เป็นเด็กส่วนน้อย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัจจัยส่วนอื่นๆ ด้วยก็ล้าหลัง เช่น การผลิตครูที่จะรู้ในหลักปรัชญาวิทยาศาสตร์ไม่มี เพราะวิชาเหล่านี้เป็นลักษณะการเรียนรู้ที่ต้องเป็นคนมีใจรัก เข้าใจ และลุ่มลึก ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นแบบเรียนขอไปที ให้ผ่านและจบไปในแต่ละวัน การสร้างเจตคติ หรือวิธีการคิดแบบวิทยาศาสตร์ บ้านเรายังไปไม่ถึง หากจะพูดถึงเรื่องจิตวิญญาณเหล่านี้มีน้อยมาก

ครูวิทยาศาสตร์บ้านเราจึงถอยหลัง นี้เป็นภาพสะท้อนที่เห็นชัด เราควรจะหาภาคเอกชนเข้ามาช่วย ในการจัดให้เป็นรูปแบบ แต่ก็มีคำถามอีกว่าภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยจะต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่ได้มาครอบงำหรือเอาผลประโยชน์

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา จะไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งที่มีโรงเรียนที่สอนเรื่องคณิต วิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่ภาพรวมไม่สามารถเป็นคานงัดได้ เป็นได้แค่ไม้ซีกอยู่ตลอด

องค์ประกอบพวกนี้ กระทรวงศึกษาธิการต้องกลับมาทบทวนเรื่องของการผลิตครูกันใหม่ หลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏผลิตครูออกมาเป็นแบบรับไม่อั้น รับเยอะเกินไป ผลิตครูเหมือนเน้นปริมาณมากเกินไป ดังนั้น ผมคิดว่าวิธีแก้คือต้องทำเป็นระบบปิด

ภายในปีหนึ่งรับทั้งประเทศในการผลิตครูออกมาไม่ควรเกิน 10,000 คน เพราะปัจจุบันครูที่ผลิตออกมาปีหนึ่งประมาณ 56,000 คน ซึ่งต้องมีการวางแผนให้ดีว่าแต่ละปีเราจะผลิตครูให้ได้ตรงตามเป้าหมายเท่าไร และเอาครูเหล่านี้ไหลเข้าไปในระบบ

แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการกำลังทำเรื่องนี้อยู่ก็ตาม แต่ผมถือว่านโยบายที่ออกมาเดินถูกทางครึ่งเดียว คิดเป็นประมาณ 50% และที่ผมเห็นจุดอ่อนอีกอย่างคือ ครูสอนวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ไม่ค่อยมีเครื่องไม้เครื่องมือ ถึงแม้ว่าจะมีจิตวิญญาณแค่ไหน ก็จบ กระทรวงศึกษาฯต้องมีการสนับสนุนไปพร้อมๆ กันด้วย

สำหรับคะแนนสอบโอเน็ตนั้น กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการวัดและประเมินผล ทุกคนให้ความสำคัญมาก โอเน็ตจึงกลายเป็นตัวแทนของความเป็นคุณภาพการศึกษา ซึ่งกำลังเกิดความเข้าใจผิดครั้งใหญ่ของประเทศ เพราะทุกคนให้ความสำคัญและทุ่มเทมากเกินไป ผมมองว่าโอเน็ตเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

ปัจจุบันผู้บริหารโรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องโอเน็ตมาก ขอให้คะแนน(โอเน็ตสูงขึ้นก็พอแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกคนก็ไปตีให้คุณค่าและความหมายกับโอเน็ต และคิดว่าโอเน็ตเป็นตัวตัดสินทุกเรื่อง จนทำให้เราละเลย เพิกเฉยต่อคุณภาพตัวอื่นๆ

เช่น คุณภาพเรื่องการเป็นคนมีศีลธรรม การเป็นคนมีจิตสาธารณะ ลืมเรื่องความเอื้ออาทร การให้ เป็นคนดี ซื่อสัตย์ คุณภาพการคิด ฯลฯ ปัจจุบันเรื่องสำคัญเหล่านี้หายไปหมดเลย” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว