องคมนตรี ติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำและป่าไม้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สุขทั้งแผ่นดิน/เสกสรร  สิทธาคม


            สุขทั้งแผ่นดิน อ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอีกรูปธรรมหนึ่งแห่งพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยราษฎรที่ได้ทรงทุ่มพระองค์สร้างแหล่งน้ำอันเป็นปัจจัยแห่งการสร้างความเจริญงอกงามแห่งสรรพชีวิต  และการดำรงอยู่ได้แห่งชีวิตดังพระราชดำรัสว่า “น้ำคือชีวิต”

            เฉกเช่นแหล่งน้ำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระราชทานไว้มากมายทั่วทั้งประเทศ

            วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2559 ที่ผ่านมานายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยนายดนุชา สินธวานนท์รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ( รองเลขาธิการ กปร.) ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่สำนักงาน กปร. ชมนิทรรศการผลการดำเนินงานสรุปผลการจัดการน้ำและการใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการน้ำของราษฎรในโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

           สุขทั้งแผ่นดิน พร้อมกันนี้องคมนตรี ได้พบปะกลุ่มผู้ใช้น้ำสหกรณ์การเกษตรชลประทานยางชุม จำกัด และราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในพื้นที่จนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้นทำให้การดำรงชีพดำเนินไปได้อย่างดี โอกาสนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมตรี และคณะ ร่วมกับราษฎรปล่อยพันธุ์ปลากินพืช จำนวน 300,000 ตัวลงสู่อ่างเก็บน้ำยางชุมฯ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปลา รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กับราษฎร

โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2516  แล้วเสร็จเมื่อปี 2523  มีลักษณะเป็นเขื่อนดินขนาดสูง 23 เมตร ยาว 1,500 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ขนาดความจุ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายยาวรวมประมาณ 24 กิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน 15,300 ไร่ มีวัตถุประสงค์เป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง บรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำ กุยบุรี ผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงฤดูแล้ง

สุขทั้งแผ่นดิน ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 และวันที่ 6 ตุลาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณาเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ  ทรงให้พิจารณาก่อสร้างฝายต้นน้ำ สระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยเหนือพื้นที่อ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ สำนักงาน กปร. ดำเนินการสนองพระราชดำริโดยบูรณาการการทำร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ราษฎรมีพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ไร่

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ มีปริมาณน้ำจำนวน 18.60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45.25  ของปริมาณน้ำเก็บกักทั้งหมด ส่งผลให้ราษฎรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

            จากนั้น นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมตรี และคณะฯ  ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพบปะราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯรับทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพท่ดีขึ้นกว่าดั้งเดิม  มีความสุขอย่างยั่งยืนด้วยเพราะหลุดพ้นจากความอดอยากขาดแคลน   รวมทั้งได้ชมทัศนียภาพของโครงการฯ ซึ่งผลจากการดำเนินงานโครงการฯ ทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี ส่งผลให้ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้จากการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าในแบบธรรมชาติ มีความเข้าใจ รู้จักรักและหวงแหนพันธุ์ไม้  สัตว์ป่า และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 

สุขทั้งแผ่นดิน สืบเนื่องมาจากเมื่อปี 2540 จากเหตุการณ์ช้างป่าเสียชีวิตเพราะได้รับสารพิษและจากการถูกยิงเนื่องจากเข้าไปกินสับปะรดที่ชาวบ้านปลูกไว้ในพื้นที่บ้านรวมไทย หมู่ 7 ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยจึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินการตรวจสอบวินิจฉัยให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี โดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี สำนักงาน กปร. ดำเนินการสนองพระราชดำริโดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรเอกชน  ร่วมในการจัดทำและใช้ “แผน” เป็นเครื่องมือดำเนินงาน โดยดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า ปลูกและฟื้นฟูสภาพป่าตามแนวพระราชดำริ จำนวน 18,000 ไร่ จัดทำโป่งเทียม ก่อสร้างฝาย Check Dam การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ เพิ่มพื้นที่ป่าในพื้นที่โครงการฯ

 ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการฯ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการปรับปรุงระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ ปรับปรุงฝายกุยบุรีพร้อมระบบส่งน้ำ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง การพัฒนาอาชีพและรายได้ โดยจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรทั้งหมด ส่งเสริมอาชีพและเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงส่งเสริมพัฒนาสินค้า OTOP สู่มาตรฐาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน จัดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การประชาสัมพันธ์และจิตวิทยา จัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยาสร้างความสัมพันธ์ในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่า เพื่อสร้างความเข้าใจในผลประโยชน์ที่จะได้รับจาการดำเนินโครงการและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง รวมถึงสัตว์ป่าอยู่รวมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน