สธ.เตือนภัยผู้ปกครอง! อย่าปล่อยเด็ก 3 ขวบแรกเล่นสมาร์ทโฟน เสี่ยง“พัฒนาการช้า-ไร้จินตนาการ”

 

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตือนผู้ปกครองที่ชอบให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ดูการ์ตูนหรือเกมทางทีวีหรือทางสมาร์ทโฟน จะมีผลให้พัฒนาการสำคัญในชีวิต 5 ด้านของเด็กล่าช้า ไร้จินตนาการ

ผลสำรวจล่าสุดในปี 2556 พบเด็กวัย 3 ขวบ มีพัฒนาการไม่สมวัยสูงถึงร้อยละ 43 เป็นผลมาจากการเลี้ยงดู เร่งแก้ไขป้องกัน จัดอบรมอสม.กว่าครึ่งแสนคน ร่วมมือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กระตุ้นให้แม่หลังคลอดในชุมชนเลี้ยงลูกตามสูตรกิน-กอด-เล่น-เล่า

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากช่วง 5-10 ปีก่อน เดิมเกิดปีละประมาณ 8 แสนคน ลดลงเหลือประมาณปีละ 7 แสนคน

แต่ที่น่ากังวลและต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือ เรื่องของพัฒนาการเด็กไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อการเตรียมเข้าสู่ระบบการศึกษา ผลการสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ.2556 กลุ่มเด็กเล็กอายุ  3 ขวบที่เกิดในปี 2553 พบว่า มีเด็กที่มีพัฒนาการสมวัยเพียงร้อยละ 57 ไม่สมวัยถึงร้อยละ 43

เมื่อติดตามความก้าวหน้าพัฒนาการในเด็กกลุ่มเดิมที่พัฒนาการสมวัยพบว่า ร้อยละ 20 มีพัฒนาการไม่เป็นไปตามอายุ ส่วนกลุ่มที่พัฒนาการไม่สมวัยเดิม มีมากถึงร้อยละ 70 ที่พัฒนาการไม่ก้าวหน้า จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก        

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเล็กมีพัฒนาการช้าเกิดมาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ 1.เด็กไม่ได้รับอาหารที่ดีและมีคุณค่าตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ โดยเฉพาะเกลือแร่ที่มีผลต่อสมอง คือไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลต ส่วนใหญ่จะพบในครอบครัวที่ยากจน หรือพบได้ในแม่วัยรุ่น

2.เกิดมาจากการเลี้ยงดูหรือคนเลี้ยงมีปัญหา โดยเฉพาะในครอบครัวเดี่ยว ซึ่งขณะนี้มีประมาณร้อยละ 30 ซึ่งโอกาสดูแลลูกมีน้อย เด็กจึงอยู่กับพี่เลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กและศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งหากไม่มีการเล่านิทานหรือการเล่น พัฒนาการจะไม่เกิดขึ้น

และ 3.คือการใช้สื่อโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟนมาให้เด็กดูเกม หรือการ์ตูน เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะเด็กในวัย 3 ขวบแรก ควรหยุดการใช้สื่อ สิ่งที่ควรใช้ที่สุดก็คือการเล่านิทาน หรือการเล่น เป็นวิธีที่เด็กจะได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งหมด การเล่านิทานจะเป็นการฝึกเด็กสร้างจินตนาการ ฝึกพัฒนาการของสมอง

ในปี 2559 นี้ กรม สบส.ได้เน้นงานพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพคนทุกกลุ่มวัย ได้จัดอบรม อสม.จำนวน 52,236 คน ให้มีความรู้และมีส่วนร่วม เป็นกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังในชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์เด็กเล็ก ผู้ปกครอง เพื่อดูแลกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ

ทางด้านนายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า อสม.ที่เข้ารับการอบรมเรื่องการดูแลเด็กปฐมวัยอายุแรกเกิดถึง 5 ปี ใช้เวลาอบรมเพียง 1 วัน เน้นหนักที่การส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก สามารถค้นหา วิเคราะห์เด็กที่มีภาวะเสี่ยงได้ เช่น แม่ตั้งครรภ์ที่ยังเป็นวัยรุ่นที่ขาดการดูแลใส่ใจหรือความรู้ในช่วงตั้งครรภ์

โดย อสม.จะติดตามเยี่ยมเด็กเกิดใหม่ทุกคน ค้นหาเด็กมีพัฒนาการล่าช้าให้ได้เร็วที่สุดตามเทคนิควิชาการ หากพบว่าเด็กมีลักษณะไม่เหมาะสมตามวัย เช่น อายุ1-3 เดือน เด็กดูดนมแม่ได้ไม่ดี ไม่จ้องหน้า ไม่มองตาม ไม่สบตา อายุ 2 ขวบ ยังบอกชื่อตัวเองไม่ได้ จะให้คำแนะนำพ่อแม่เพื่อกระตุ้นและส่งตรวจที่สถานบริการ ค้นหาหญิงตั้งครรภ์ใหม่

ให้ฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และแนะให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนอายุ 6 เดือน ให้พ่อแม่บันทึกการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ในสมุดบันทึก ฉีดวัคซีนตามนัด

ทั้งนี้ เทคนิคการฝึกพัฒนาเด็กแก่พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ถูกต้อง คือ ต้องใจเย็น ไม่โมโห ไม่ขึ้นเสียง ไม่ตีเด็ก เมื่อเด็กทำได้ตามที่ฝึก ควรให้ความเอาใจใส่คือชมเชยเด็ก ยิ้ม ปรบมือ กอด เพื่อให้เด็กมีกำลังใจที่จะฝึกต่อ ซึ่งจะทำให้แก้ไขพัฒนาการล่าช้าของเด็กได้สำเร็จ

“ซึ่งพัฒนาการ 5 ด้านที่สำคัญของชีวิตเด็ก ได้แก่ พัฒนาการด้านร่างกาย ด้านภาษาการสื่อสาร ด้านสติปัญญา ด้านสังคม และอารมณ์จิตใจ หากมีครบถ้วนจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ” นพ.ประภาสกล่าว