“บิ๊กน้อย” นำทีมประชุมติดตามการขับเคลื่อนการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด จ.ตาก คึกคัก!


พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำคณะผู้บริหารหน่วยงานใน ศธ.ลงพื้นที่ประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด จังหวัดตาก ที่ห้องประชุมใหญ่ วิทยาลัยเทคนิคแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเร็วๆ นี้

ข่าวการศึกษา โดยมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตาก นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการ ศธ. และปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 17 และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจงความพร้อมและแนวทางการขับเคลื่อนฯ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการรองรับให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์เปิดเผยหลังการประชุมว่า ในฐานะที่ตนดูแลรับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนประชาคมอาเซียนศึกษาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 23 เขต โรงเรียนในโครงการ จำนวน 47 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.)

มีวัตถุประสงค์ให้โรงเรียนในโครงการได้พัฒนาการจัดการศึกษาแบบบูรณาการและส่งเสริมการจัดการศึกษาในมิติที่หลากหลาย เป็นแหล่งเรียนรู้ครบวงจรขององค์ความรู้ในด้านอาชีพ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การค้า การเมือง เทคโนโลยีสารสนเทศ กิจการโลจิสติกส์ ฯลฯ

เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน รวมทั้งสนองตอบต่อนโยบายรัฐบาลอันสอดรับกับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งในส่วนของ ศธ.ได้มีการเตรียมแผนยุทธศาสตร์เรื่องนี้มาแล้ว 1-2 ปี

รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.กล่าวต่อว่า อำเภอแม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่ชายแดนติดกับจังหวัดเมียวดี ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน ทำให้ ศธ.ต้องเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ เพราะทุกเรื่องเกี่ยวโยงกันหมด

ไม่ว่าเป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการจัดการศึกษาที่สูงกว่า เช่น การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือระดับอาชีวศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการศึกษา ทำให้ทุกคนในพื้นที่มีอาชีพ มีงานทำ สามารถแข่งขันระดับประเทศได้

ข่าวการศึกษา ด้านนายเจริญฤทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ทางจังหวัดให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ก่อนประถมศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา กศน. ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้คนในพื้นที่มีทักษะด้านภาษา อาชีพ บางครั้งเราก็ต้องใช้วิธีการบูรณาการ คือใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การเรียนรู้เรื่องการบัญชี ครูก็ต้องมีความรู้ หรือบางครั้งเราอาจะประสานกับภาคเอกชนส่งนักบัญชีอาชีพมาช่วยถ่ายทอดความรู้ได้ เป็นต้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวต่อว่า จากที่ตนได้รับฟังผลการประชุม TAK Forum  การพัฒนาจังหวัดตากเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา เห็นแนวคิดด้านการศึกษา แรงงาน และการมีส่วนร่วม รวมถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะด้านการศึกษาพบว่า ทุกหน่วยงานในจังหวัด ไม่ว่าเป็นกระทรวงแรงงาน ศธ. จังหวัด รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจัดหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับการบูรณาการร่วมกัน

เช่น หลักสูตรด้านอาชีวศึกษา ทั้งวิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยชุมชน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สถาบันอุดมศึกษา ศูนย์ศึกษาพิเศษขององค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) การศึกษาของสงฆ์ ทุกมิติเหล่านี้ต้องสอดคล้องกัน และสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยจัดให้มีการเรียนการสอนอย่างน้อย 2 ภาษา ในแต่ละโรงเรียน

อย่างปัจจุบัน ที่ อ.แม่สอด มีภาษาที่ใช้อยู่ 3 ภาษา คือ ภาษาเมียนมาร์ ภาษาจีน และภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษนั้นเป็นภาษาหลักที่ต้องสอนอยู่แล้ว

ทางด้านนายพิษณุ ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค 17 กล่าวว่า สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบ จากการประชุม TAK Forum ทราบว่า มี 6 แนวทาง

ได้แก่ 1.ด้านการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ตาก เขต 1 ได้จัดหลักสูตรที่เน้นทักษะอาชีพ, สพป.ตาก เขต 2 ให้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษามีหลักสูตรสถานศึกษาที่เน้นการมีงานทำ จัดกิจกรรมตลาดนัดพอเพียงสู่อาเซียน ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 38 ส่งเสริมให้โรงเรียนจัดการสอนบูรณาการงานอาชีพ และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในพื้นที่เชื่อมสัมพันธ์กับโรงเรียนในเมียนมาร์

ข่าวการศึกษา2.การพัฒนาทักษะที่ต้องการคนรู้และใช้ได้ทั้ง 3 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ และเมียนมาร์ โดย สพป.ตาก เขต1 ทำโครงการจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม รวมทั้งมีการพัฒนาภาษาที่ 2 คือภาษาเมียนมาร์ ส่วน สพป.ตาก เขต2 จัดอบรมพัฒนาครูแกนนำการใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมาร์ พร้อมผลิตสื่อการเรียนการสอน ส่วน สพม.เขต 38 จัดค่ายภาษาส่งเสริมวัฒนธรรม

3.หลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพและช่างฝีมือ ทาง สพป.ตาก เขต 1 ได้จัดหลักสูตรอาชีพรายวิชาเพิ่มเติมในโรงเรียนมัธยมศึกษา เช่น ช่างยนต์ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้า ฯลฯ, สพป.ตาก เขต 2 ทำหลักสูตรเพิ่มเติมโรงเรียนมัธยมศึกษา เช่น ช่างเชื่อม อัญมณี ช่างยนต์ เกษตรกรรม ธุรกิจศึกษา และหลักสูตรทวิศึกษาร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคแม่สอด (สายสามัญ ม.6 + ปวช.) ส่วนสพม.เขต 38 จัดกิจกรรมทักษะด้านอาชีพ เช่น อัญมณี คอมพิวเตอร์กราฟฟิก งานประดิษฐ์พลอย งานตัดเย็บ ช่างเสริมสวย เป็นต้น

4.ด้านส่งเสริมเพื่อสานความสัมพันธ์ที่ดีของไทย-เมียนมาร์ สพป.ตากเขต 1 มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของเมียนมาร์, สพป.ตาก เขต 2 ส่งเสริมศูนย์การเรียนต่างด้าวในพื้นที่ประเทศไทย การจัดทำทะเบียนนักเรียนต่างด้าว จัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนสอนภาษาและวัฒนธรรมเมียนมาร์ในโรงเรียน และ สพม.เขต 38 นำคณะครูและบุคลากรเยี่ยมและมอบสิ่งของโรงเรียนในประเทศเมียนมาร์ และจัดกีฬาเชื่อมสัมพันธ์ ฯลฯ

5.ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวบริการและการโรงแรม สพป.ตาก เขต1 จัดส่งเสริมครู นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกิจกรรมระหว่างจังหวัดตากกับเมียวดี ประเทศเมียนมาร์ เช่น เที่ยวสองแผ่นดิน, สพป.ตาก เขต 2 จัดกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยสำหรับบริการนักท่องเที่ยว และ สพม.เขต 38 ส่งเสริมให้โรงเรียนมีการประสานสัมพันธ์และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

สุดท้ายแนวทางที่ 6.ด้านการอนุรักษ์และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น คุณภาพชีวิต การจัดการขยะ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านวัฒนธรรมประเพณี ทาง สพป.ตาก เขต 1 ได้จัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ, สพป.ตาก เขต 2 ทำโครงการปลูกป่าปลูกต้นมะม่วงบนดอยเฉลิมพระเกียรติ การอนุรักษ์ป้องกันสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เช่น การทำฝาย การกำจัดขยะ การประหยัดน้ำ รวมทั้งจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง

“ส่วน สพม.เขต 38 จัดทำกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และกิจกรรมโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน” นายพิษณุกล่าว

คุณนงนวล รัตนประทีป ผู้สื่อข่าว “สำนักข่าวการศึกษา สยามเอ็ดดูนิวส์” ซึ่งติดตามไปรายงานข่าวการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาแบบบูรณาการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด จังหวัดตากครั้งนี้ รายงานด้วยว่า เนื่องในงานประชุมดังกล่าวในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ยังมีรายการแสดงมหกรรมทางวิชาการผลงานนักเรียนและครูโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในพื้นที่

โดยจัดที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาแม่สอด ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมแต่งเติมกลีบดอกไม้ที่หายไป” พร้อมกิจกรรมการแสดงดนตรี และระบำเกลียวเชือกจากโรงเรียนห้วยน้ำนักวิทยาของชาวกระเหรี่ยง ซึ่งมีประชาชนไทยและชาวเมียนมาร์ให้ความสนใจเข้ามาเที่ยวชมการแสดงเป็นจำนวนมาก