สกศ.เดินหน้าหนุนตั้ง “สมัชชาการศึกษาจังหวัด” ตั้งเป้าคลอดทั่ว ปท.ภายใน 30 ก.ย.59 ชี้เชื่อมขับเคลื่อน กศจ.


สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมระดมความคิดเห็น “การจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือและสมัชชาการศึกษา” ณ โรงแรมเอส ดี อเวนิว กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อวางกรอบแนวทางในการจัดตั้งสมัชชาการศึกษาทั่วประเทศภายในวันที่ 30 กันยายน 2559

โดยมีเครือข่ายผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็นจากหลากหลายภาคส่วน อาทิ เครือข่าย 15 จังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ จากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เครือข่ายภูมิปัญญาไทย เครือข่ายบ้านเรียน เครือข่ายเด็กเยาวชน เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ สกศ. ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ชาติในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อหวังให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ในแง่การจัดการศึกษาจึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างนวัตกรรมในการจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดรับกับแผนการศึกษาชาติ ซึ่งวางไว้ 15 ปี

ฉะนั้น การใช้ระบบเครือข่ายในการจัดตั้งสมัชชาการศึกษา จึงควรเกิดจากฐานราก และมาจากความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน มิใช่หน้าที่เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพียงฝ่ายเดียว

สกศ.จึงมีความมุ่งหวังที่จะจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดขึ้น โดยครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการจัดตั้งที่เป็นระบบ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายจังหวัดที่มีกลไกการเกิดสมัชชาการศึกษาแล้ว อาทิ เครือข่ายจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ สสค.และ สสส. แต่ยังมีหลายจังหวัดที่ขาดแนวทางในการจัดตั้ง จึงอยากใช้เวทีระดมความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อสร้างแนวทางเครือข่ายด้านการศึกษาและสมัชชาการศึกษาให้ครบทุกจังหวัด

หากจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือและสมัชชาการศึกษาขึ้นแล้ว เครือข่ายต้องทำหน้าที่ชี้นำทิศทางการศึกษาของจังหวัด ที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ นอกเหนือจากที่ปล่อยให้รัฐชี้นำอยู่ฝ่ายเดียว ฉะนั้น เครือข่ายภาคประชาสังคม ต้องช่วยสนับสนุนในเรื่องความคิดและการอำนวยความสะดวกในพื้นที่ เพื่อประโยชน์ของคนในจังหวัด

“ซึ่ง สกศ.เองอยากเห็นเครือข่ายสร้างองค์ความรู้ด้านจัดการศึกษาให้กับพื้นที่ (Knowledge Society) โดยมีการตั้งสำนักส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือและสมัชชาทางการศึกษา (สคร.) ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนสมัชชาการศึกษาจังหวัดต่อไป โดยจะนำไปสู่การร่างแนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายในพื้นที่ในเดือนพฤษภาคม 2559 และตั้งเป้าให้เกิดสมัชชาการศึกษาภายในวันที่ 30 กันยายน 2559” ดร.กมลกล่าว

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงประสบการณ์การในการจัดตั้งสมัชชาสุขภาพ ซึ่งแต่เดิมติดกรอบเฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุขว่า การชวนมาระดมความคิดเห็นเรื่องการเรียนรู้ หรือการตั้งสมัชชาการศึกษาจังหวัด ไม่ใช่ตั้งเพื่อให้เกิดการจัดตั้งการศึกษาในระบบเช่นเดิม แต่ต้องสร้างให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างคนทุกภาคส่วนในชุมชน

ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการจัดตั้งสมัชชาสุขภาพ ฉะนั้น การเกิดเครือข่ายความร่วมมือและสมัชชาการศึกษาในรูปแบบใดก็ตาม ต้องสร้างความเป็นหุ้นส่วนในการจัดการเรียนรู้ และอย่าปล่อยให้การเกิดสมัชชาการศึกษาเป็นเรื่องของคนในสภาการศึกษาเท่านั้น

เครือข่ายสมัชชาการศึกษาจึงควรจะหมายถึงระบบ กลไก กระบวนการและเครื่องมือเพื่อนำสู่การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเรียนรู้แบบ มีหุ้นส่วน และควรให้คนในสภาการศึกษาเป็นหนึ่งกลไลให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนในแต่ละ จังหวัด เพราะหากเราจะสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ก็จำเป็นใช้รูปแบบการจัดการใหม่ มิใช่การสั่งการเช่นเดิม

นพ.อำพลยังได้ให้ข้อคิดในการขับเคลื่อนสมัชชาการศึกษาว่า ควรประกอบด้วยกลไก 5 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างกลุ่มแกนนำเพื่อการเปลี่ยนแปลง 2) การสร้างกระบวนการสร้างความเข้าใจให้เครือช่ายและกลไกขับเคลื่อน 3) การขยายเครือข่ายภาคีแกนนำ 3 ส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการและภาคประชาสังคม 4) การส่งเสริมให้เกิดแนวคิดด้านเสริมพลัง และ 5) ไม่ควรเริ่มด้วยระเบียบ กฎเกณฑ์ และคู่มือ แต่ให้คนในระบบการศึกษาเดิมนำไปลงมือปฏิบัติ

นายทองสุข รวยสูงเนิน รองประธานคณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นแกนนำในการเปิดเวทีสมัชชาการศึกษาสุรินทร์ กล่าวถึงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนอนาคตการศึกษาจังหวัดสุรินทร์ว่า คนสุรินทร์คาดหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่ 2 ประเด็น

คือ จากเดิมงานที่ต่างคนก็ต่างทำตามภาระความรับผิดชอบของตนเองอย่างเต็มที่อยู่แล้ว นับจากนี้จะเกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างหน่วยงานแต่ละสังกัด ที่นอกจากรับฟังนโยบายจากต้นสังกัดแล้ว ยังมีการฟังข้อมูลจากชุมชนรอบข้าง ดูทิศทางและนโยบายของจังหวัด และมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการศึกษา ซึ่งจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้

และในปัจจุบันเมื่อเกิดคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ตาม ม.44 แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ก็เห็นควรตั้งคณะกรรมการการจัดการศึกษาเชิงพื้น จังหวัดสุรินทร์นี้ ให้เป็นกลไกทำงานควบคู่กัน เพื่อนำสู่การจัดแผนพัฒนาการ ศึกษาจังหวัดสุรินทร์

“ผมเห็นควรให้สภาการศึกษาเชื่อมงานกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้การเกิดสมัชชาการศึกษาเชื่อมต่อกับกระบวนการขับเคลื่อน กศจ.ด้วย” นายทองสุขกล่าว